​ผู้ว่าฯ ติดตามคดีปัญหาการบุกรุกและทำลายโบราณสถานเขาแดง ย้ำให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามขั้นตอนกฎหมาย


17 มี.ค. 2565

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เร่งให้ติดตามคดีปัญหาการบุกรุกและทำลายโบราณสถานเขาแดง อำเภอสิงหนคร และให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามขั้นตอนกฎหมาย

จากที่ได้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเขาแดง และเขาน้อย และทำลายฐานเจดีย์องค์ดำ องค์ขาว บนเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เร่งติดตามหาผู้กระทำผิด และพยาน หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

(16 มี.ค. 65) ที่ห้องประชุมประชารัฐร่วมใจ ที่ว่าการอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พลตำรวจตรี อาซาน จันทร์ศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา นายพงษ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา นายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร ผู้แทนจากกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการติดตามหาตัวบุกรุกและทำลายโบราณสถานเขาแดงและเขาน้อย อำเภอสิงหนคร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้กล่าวว่าทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ฝ่ายตำรวจ อำเภอ ท้องถิ่น สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สงขลา หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สข. 8 (ห้วยลึก) และสำนักงานที่ดิน ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก

พลตำรวจตรี อาซาน จันทร์ศิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ได้กล่าวถึงการติดตามผู้กระทำผิด และความผิดที่เกิดจากการบุกรุกว่า ปัญหาการบุกรุกโบราณสถานเขาแดง มีทั้งหมด 3 จุด โดยจุดแรกบริเวณเขาแดง มีการลักลอบทำลายโบราณสถาน และแผ้วถางป่าเพื่อทำถนนขึ้นไปบนยอดเขาแดง จุดที่สองบริเวณเขาน้อย หลังป้อมเมืองเก่าสงขลาหมายเลข 9 มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าในเขตโบราณสถาน และจุดที่สาม บริเวณเจดีย์องค์ดำ-องค์ขาว มีการลักลอบขุดเจาะฐานเจดีย์องค์ดำ จนได้รับความเสียหาย ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนและได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วในจุดบุกรุกที่ 1 ที่บริเวณเขาแดง และจุดที่ 2 ที่บริเวณเขาน้อย หลังป้อมเมืองเก่าสงขลาหมายเลข 9 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยทางพนักงานสอบสวนจากตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับ สถานีตำรวจภูธรสิงหนคร ได้เร่งค้นหาหลักฐาน ทั้งในทางนิติวิทยาศาสตร์และพยานบุคคลในพื้นที่ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุเพื่อรวมรวบข้อมูล และขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดีบุกรุกโบราณสถานทั้ง 3 คดี ซึ่งได้มีการสอบปากคำพยานไปแล้วหลายปาก และในทางการสืบสวนนั้น มีผู้เข้ามาแสดงตนว่าเป็นผู้กระทำผิดแล้ว จำนวน 3 ราย แต่การดำเนินการจะเน้นหนักในเรื่องพยานหลักฐานเป็นหลัก จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุม ซึ่งในภาพรวมถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก หากรวบรวมหลักฐานได้ครบถ้วนคาดว่าจะสรุปสำนวนส่งให้ทางอัยการดำเนินการในลำดับต่อไป

นายพงษ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา กล่าวว่า หลังจากได้แจ้งความดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาก็ได้ร่วมกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร เข้าตรวจสอบเขตพื้นที่โบราณสถานบริเวณเขาน้อยและบริเวณเขาแดง ซึ่งเป็นเขตโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,400 ไร่ เบื้องต้นที่มีการตรวจสอบในจุดที่บุกรุกเป็นที่ดินบริเวณดังกล่าวทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ สำหรับการดำเนินงานขั้นตอนต่อไป จะมีการติดตามสภาพของโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากการฝ่าฝืนและบุกรุก โดยมีการบูรณาการความร่วมมือในเรื่องของการประเมินผลกระทบ การลดผลกระทบและการเข้าฟื้นฟูสภาพของโบราณสถาน ซึ่งขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือไปยังผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 สุราษฎร์ธานี ในการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบชั้นดินและโครงสร้างต่างๆ ของโบราณสถานในวันที่ 21 มีนาคม นี้ สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีการประเมินและจะให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบและจะมีการวางแผนร่วมกับสำนักงานที่จังหวัดสงขลา สาขาสิงหนครในการตรวจสอบแนวเขตโบราณสถาน และพื้นที่ของรัฐที่ชัดเจนทั้งหมด

ด้านนายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร กล่าวว่า หลังจากมีการตรวจสอบแนวเขตก็จะร่วมกับท้องถิ่น ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน สร้างเครือข่ายให้ประชาชนได้ร่วมกันปกป้องพื้นที่โบราณสถานและพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากบริเวณอำเภอสิงหนครเป็นย่านเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องของการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแลอยู่แล้วนั้น แต่สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คือการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยให้ทางอำเภอเป็นหน่วยงานเชื่อมต่อระหว่างส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ในการปกป้อง รักษา ดูแลทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โบราณสถาน หรือทรัพย์สินอื่นๆ ของทางราชการ ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ก็จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อละเว้น และถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีหน้าที่โดยตรงละเลยการปฏิบัติหน้าที่ก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยทันที

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา