กมธ.กฎหมายฯ ติดตามข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน บริเวณเมืองเก่าสิงหนคร


1 เม.ย. 2565

กมธ.กฎหมายฯ ติดตามข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน บริเวณเมืองเก่าสงขลา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร พร้อมรุดตรวจสอบสภาพพื้นที่ เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน

(30 มี.ค. 65) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ร้อยตำรวจเอกอรุณ สวัสดี รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 5 นายสุทัศน์ เงินหมื่น ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นำคณะทำงาน ลงพื้นที่ประชุมและติดตามข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน บริเวณเมืองเก่าสงขลา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมีนายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายพงษ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ผู้แทนจากอำเภอสิงหนคร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน

. จากกรณีที่มีการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสงขลา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จนได้รับความเสียหาย จำนวน 3 แห่ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากการบุกรุกโบราณสถานเขาน้อย พบว่า ขณะนี้โบราณสถานฯ มีพื้นที่ในเขตประกาศขึ้นทะเบียนถูกทำลายเสียหายไปแล้วกว่า 7 ไร่ มีปริมาตรดินที่สูญเสียไปกว่า 150,000 ลบ.ม. คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,050,000บาท ส่วนโบราณสถานหัวเขาแดง จากการตรวจสอบความเสียหาย จากการลักลอบทำลายโบราณสถานหัวเขาแดง พบว่า มีเนื้อที่เสียหาย ประมาณ 5 ไร่ ปริมาตรดินที่สูญเสียไปประมาณ 24,000 ลบ.ม. คิดเป็น มูลค่า 4,008,000 บาท และก่อให้เกิดการพังทลายหน้าดินถูกชะล้าง เสียหายอย่างต่อเนื่อง

. อีกทั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ดำเนินการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ร่วมกับนักธรณีวิทยา จากสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 สุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลความเสียหายทางธรณีวิทยา อาทิ ประเภทหิน ชั้นโครงสร้างทางธรณีวิทยา การผุพัง ที่อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน เพื่อนำข้อมูลไปประเมินผลกระทบและจัดทำแผนลดผลกระทบก่อนกำหนด มาตรการฟื้นฟูสภาพโบราณสถานในระยะยาวต่อไป ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่อนุรักษ์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานพนักงานสอบสวน เพื่อให้ข้อมูลประกอบการดำเนินคดีและการประเมินมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมหลังมีการทำลาย

. สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร ได้เข้าตรวจสอบบริเวณที่ดินที่มีการบุกรุก ทำลายตามค่าพิกัดของกรมป่าไม้ และสถานีตำรวจภูธรสิงหนครแล้ว พบว่าบริเวณที่ดินดังกล่าวอยู่นอกเขตเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ไม่ปรากฏว่ามีโฉนดที่ดินหรือหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) แต่อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาสิงหนคร จะทำการรังวัดเพื่อหาค่าพิกัดว่าที่ดินที่มีการบุกรุก ทำลายอยู่ในพื้นที่มีเอกสารสิทธิหรือเป็นพื้นที่ป่าไม้หรือไม่ โดยคาดว่าจะนัดรังวัดในวันที่ 12 เมษายน 2565 นี้

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว-ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา