​นักวิจัย ม.อ. ค้นพบ “เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก


4 ก.พ. 2566

รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ และ นางอมรรัตน์ จันทนาอรพินท์ นักวิจัยสังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบและบรรยายลักษณะและตั้งชื่อกล้วยไม้อาศัยราสกุล Aphyllorchis Blume ชนิดใหม่ของโลก โดยได้ตีพิมพ์ในวารสาร PhytoKeys (https://doi.org/10.3897/phytokeys.215.91458)

รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ได้อธิบายลักษณะของกล้วยไม้ชนิดนี้ ว่า เป็นกล้วยไม้อาศัยรา ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับรา ลำต้นใต้ดินตั้งตรงมีรากสั้นๆ อวบน้ำจำนวนมาก ช่อดอกสูงได้ถึง 150 เซนติเมตร และมีดอกจำนวนมากต่อช่อ ดอกสีขาวครีมหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเด่นของกล้วยไม้ชนิดนี้คือ ดอกมีสมมาตรรัศมี กลีบปากมีรูปร่างคล้ายกลีบดอก เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันลดรูปไม่แผ่เป็นปีก

ในปี พ.ศ. 2558 นางสาวพัชรินทร์ พรหมจันทร์ สำรวจพรรณไม้บริเวณน้ำตกบริพัตร พบช่อดอกอ่อนของกล้วยไม้อาศัยราชนิดหนึ่งแต่ไม่สามารถระบุชนิดได้ ต่อมา นางอมรรัตน์ จันทนาอรพินท์ และ รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ศึกษาความหลากหลายของกล้วยไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง พบกล้วยไม้อาศัยราชนิดนี้ที่มีดอกสมบูรณ์ บริเวณน้ำตกบริพัตรอีกครั้ง จากการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยา เปรียบเทียบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งติดตามศึกษาความแปรผันของกล้วยไม้ชนิดนี้ในสภาพธรรมชาติอย่างต่อเนื่องหลายปี พบว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีลักษณะคงที่และต่างจากกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุล Aphyllorchis ที่เคยมีการตั้งชื่อมาก่อน คณะนักวิจัยจึงได้บรรยายลักษณะและตั้งชื่อให้กับกล้วยไม้ชนิดนี้ โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aphyllorchis periactinantha” ซึ่งมาจากลักษณะสมมาตรของดอกแบบรัศมี และมีชื่อไทยว่า “เอื้องแฝงบริพัตร” ซึ่งมาจากชื่อสถานที่ที่พบกล้วยไม้ชนิดนี้ครั้งแรก นอกจากบริเวณน้ำตกบริพัตรแล้วยังมีรายงานพบกล้วยไม้ชนิดนี้ที่บ้านยางเกาะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่นในจังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส อีกด้วย