สคร.12 สงขลา เตือน ระวังโรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย เน้นย้ำ โดนสัตว์ข่วน-กัด ให้รีบพบแพทย์ แนะ ยึดหลัก 3 ป.
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชน ระวัง “โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย” แนะยึดหลัก 3 ป. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า จากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค 506 ปีพ.ศ. 2561 - 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 34 ราย (ปี 66 พบ 5 ราย) เสียชีวิตทั้ง 34 ราย สำหรับเขตสุขภาพที่ 12 ข้อมูลปี 2561 - 2566 พบผู้ป่วย 6 ราย (ปี 66 พบ 1 ราย) เสียชีวิตทั้ง 6 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 16 - 65 ปี โดยมีประวัติโดนสุนัขของตนเองและสุนัขไม่มีเจ้าของกัด ผู้เสียชีวิตไม่ฉีดวัคซีนหลังโดนสุนัขกัด
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies virus) จากการถูกสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์นำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง โค เป็นต้น จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 15 – 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี อาการเริ่มแรก คือ ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคันบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2–7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชน แนะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยึดหลัก 3 ป. ปอที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์มีอายุ 2-4 เดือน และกระตุ้น 1 ครั้ง เมื่ออายุ 6 เดือนถึง 1 ปี หรือตามที่แพทย์นัด และปีถัดไปฉีดกระตุ้น ปีละ 1 ครั้ง ทุกปี หากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ ปอที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกิน และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ ปอที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมข่วน/กัด/ สัมผัสน้ำลายเข้าทางบาดแผล หรือผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือถูกเลียที่เยื่อบุปาก จมูก ตา ให้การล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และสบู่ อย่างเบามือ โดยให้น้ำไหลต่อเนื่องอย่างน้อย 15 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด
ทั้งนี้ เมื่อถูกสัตว์ กัด ข่วน เลีย โดนรอยแผล จะต้องรีบไปรับวัคซีนทันที เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย เน้นย้ำ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” หากสัตว์ตายผิดปกติควรส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422