สธ.สงขลา จัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพสื่อมวลชน ปี 2567เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารไปสู่สาธารณชน
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทางสังคมที่ร้ายแรงในอนาคตได้ จากผลการวิจัย “ อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576” โดยกรมสุขภาพจิตระบุชี้ชัดว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย ในทุก 2 ชั่วโมง พบประชากร 1 คนจบชีวิตตัวเอง ทั้งยังพบผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 1-2 % พบการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อปีกว่า 4,625 คน (ปี พ.ศ. 2564-2565)
.

การสร้างเสริมสุขภาพจิตให้แข็งแรงในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดจากการขาดทักษะ ขาดความตระหนัก ขาดการยั้งคิดไตร่ตรอง และการควบคุมตนเอง ขาดวิธีที่ทำให้ตนเองพึงพอใจที่ถูกต้อง และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม หรือมีอาการซึมเศร้า คิดว่าตนเองไร้ค่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความหวังในชีวิต มีอาการโรคจิต มีเสียงหูแว่วสั่งให้ฆ่าตัวตาย บางรายมีภาพหลอนซึ่งเกิดตกใจวิ่งหนีทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่ติดเหล้าหรือสารเสพติด ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และขาดการยับยั้งใจตัวเอง นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตาย ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ จะเกิดปัญหาทางอารมณ์ได้ง่าย และอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า (depression)

.ฉะนั้น ครอบครัวจึงมีความสำคัญในการป้องกันได้โดยการให้ความรักความเข้าใจ รู้จักใช้เหตุผล และแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม ลดความขัดแย้งต่าง ๆ ในครอบครัว ส่วนการคุ้มครองสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นสิทธิตามกฎหมายของคนไทยที่ส่งเสริม ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิต รวมถึงบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายประกอบโรคศิลปะ ทั้งนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมาตรา 41 เรื่องการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการหรือทายาทได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เพื่อช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น ระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ รวมถึงมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สำนักบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ จึงมีภารกิจหลักในการพัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างมีมาตรฐานต่อไป

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำครอบครัวร่วมดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของสมาชิกในครอบครัว ภายใต้แนวทาง " เพื่อนแท้ดูแลใจ" 7 ประการ ได้แก่ 1) ทำความเข้าใจ : ไม่ทำตัวเป็นเจ้าชีวิตควบคุมบงการ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกทางด้วยตัวเอง 2) แนะนำแต่ไม่สั่งการ : เพราะทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ และเรียนรู้จากการตัดสินใจของตนเอง 3) “ช่วยเหลือ” เท่าที่ “เขาร้องขอ” : อย่าคอยตามใจหรือสนับสนุนในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นคือการทำร้ายเขารูปแบบหนึ่ง 4) อย่าเอาความคิดเราเป็นที่ตั้ง : ให้นึกถึงใจเขาใจเรา รับฟังความคิดเห็นความรู้สึกของคนอื่น 5) ไม่เรียกร้อง : ไม่สร้างความอึดอัดใจ ไม่ทวงบุญคุณ 6) เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ : ความรู้ใหม่ๆ การเลี้ยงดูใหม่ๆ ไม่ยึดติดความเชื่อมั่นเดิม และ 7) ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี : เพื่อเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่หากมีปัญหาด้านสุขภาพจิต สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323

ในการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อลดปัญหาซึมเศร้า ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ และนโยบายที่สำคัญของประทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้จัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพสื่อมวลชน ปี 2567 ขึ้นในวันที่ 5 ม.ค. 2567 เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารประเด็นสำคัญด้านสุขภาพจากผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โดยมีสื่อมวลชน จากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ เข้าร่วมอบรม ฯ จำนวน 50 คน และผู้บริหารสาธารณสุขของจังหวัดสงขลา , แพทย์และนักวิชาการ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และผู้แทนสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ NBT สงขลา ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้
***ฝ่ายปฐมภูมิ สุขภาพภาคประชาชนและสื่อสารองค์กร/สสจ.สงขลา***