อพท. ชูเมืองเก่าสงขลา หนึ่งในพื้นที่นำร่องของการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


17 ก.พ. 2567

ช่วงเย็นวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) เวลาประมาณ 17.00 น. ที่โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการโครงการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) และพัฒนาระบบบริหารจัดการสู่การเป็นต้นแบบระบบนิเวศการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อให้พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามขีดความสามารถในการรองรับ และช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ไม่ถูกทำลาย เกิดเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) และเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี นายสมเกียรติ อำนวยสุวรรณ รองผู้จัดการ อพท.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นายรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม นางเลขา สุวรรณชาตรี วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ตลอดจนองค์กรภาครัฐ – เอกชน และภาคีเครือข่ายพี่น้องประชาชนเข้าร่วม.

นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “จังหวัดสงขลา ได้พัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว พร้อมทั้งขับเคลื่อนสงขลาสู่การเป็นเมืองมรดกโลก การจัดโครงการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) และพัฒนาระบบบริหารจัดการสู่การเป็นต้นแบบระบบนิเวศการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก แต่ทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนที่มีอยู่ไม่เข้มแข็ง ก็จะเกิดความไม่สมดุลได้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย รวมทั้งท้องถิ่น/ท้องที่ ภาคีเครือข่ายพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันศึกษาเรื่องดังกล่าว ตามเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางบก ที่จะต้องสมดุลกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษาความสามารถในการรองรับ ก็จะเป็นเรื่องสำคัญทั้งการเตรียมการไม่ว่าจะเป็นการผลักดันสงขลาสู่เมืองมรดกโลกหรือการรองรับนักท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่าจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะที่สุดติดอันดับของประเทศ เพราะฉะนั้นตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เราจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนบวกกับต้องมีความพร้อมของพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคส่วนของพี่น้องประชาชนด้วย”

โดยภายในงานมีการนำเสนอผลการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 3 แหล่ง 3 มาตรการ ได้แก่ พื้นที่ทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พื้นที่เกาะหมาก ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่เมืองเก่าสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยการคัดเลือกมาตรการที่ได้จากผลการศึกษาดำเนินการนำร่องการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวให้เป็นรูปธรรมและเป็นแนวปฏิบัติที่ดี แหล่งละ 1 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ชุมชนทะเลน้อย มาตรการลดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ 2. ชุมชนเกาะหมาก มาตรการการท่องเที่ยวแผนพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลเกาะหมาก จังหวัดพัทลุง และ 3. เมืองเก่าสงขลา มาตรการเปลี่ยนจุดห้ามจอดเป็นจุดเช็คอิน