มทร.ศรีวิชัย จัดโครงการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจรูปแบบใหม่


20 ก.พ. 2567

สำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดโครงการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม และผู้ประกอบการ นิทรรศการนวัตกรรมผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาด ภายใต้โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมสู่การยกระดับศักยภาพธุรกิจรูปแบบใหม่ ในระหว่างวันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับเกียรติ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวรายงาน ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ร่วมกล่าวต้อนรับ และมีคณะผู้บริหาร นักวิจัย วิทยากร ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พร้อมมีบรรยายในหัวข้อ การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย ผศ.พญ. นลินี โกวิทวนาวงษ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแนวคิดการทำธุรกิจนวัตกรรม โดยคุณวรนล ฐิตินันทกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูเบอร์ จำกัด 

สำหรับโครงการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม และผู้ประกอบการ นิทรรศการนวัตกรรมผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาด ภายใต้โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมสู่การยกระดับศักยภาพธุรกิจรูปแบบใหม่ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย ได้ดำเนินโครงการภายใต้โปรแกรม 25 (P25) แผนงานย่อยพัฒนาระบบและกลไกสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศ ววน. แผนงานย่อยรายประเด็น “แผนงานพัฒนาระบบ ววน. ในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถศักยภาพของผู้ประกอบการในการพัฒนายกระดับสถานประกอบการด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย และผู้ประกอบการ ซึ่งทางโครงการได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อนำไป Matching ร่วมกับผู้ประกอบการ และสร้างสรรค์เป็นผลงานในวันนี้ จำนวน 10 ผลงาน อันประกอบด้วย 1. เครื่องคัดขนาดไข่นกกระทาด้วยเทคโนโลยี Image Processing / ห้างหุ้นส่วนจำกัด อคินฟาร์ม 2. ตู้ตากพริกไทยพลังงานทางเลือกในการผลิตพริกไทยพรีเมี่ยม / บริษัท บ้านสวนมรดกพริกไทยตรัง จำกัด 3. Kombucha จากเปลือกและชาดอกกาแฟ / บริษัท อินโนเวทีฟ คอฟฟี่ จำกัด 4. ระบบควบคุมการฟักไข่แบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IoT / บริษัท เอพีเอ็น ไอที โซลูชั่น จำกัด 5. อุปกรณ์แยกชิ้นงานออกจากเครื่องขัดผิว / บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด 6. เครื่องปอกไข่ไก่ต้มด้วยระบบอัตโนมัติ / บริษัท ที เอ็น เซอร์วิส 7. กระถางต้นไม้รักษ์โลก / โรงปูน อุ่นดิน 8. raw organic rice / สวนตาเชยเกษตรฟาร์ม 9. ผลิตภัณฑ์เจลนวดน้ำมันปาล์มแดงกัญชา / บริษัท เคโอซีพี จำกัด 10. ไซเดอร์มังคุดผสมน้ำผึ้งพร้อมดื่ม / ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผึ้งโพรงไทยวิถีชุมชน

รศ.วรพงค์ บุญช่วยแทน ผู้อำนวยการสำนักการจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า งานในครั้งนี้ยังกิจกรรมนำเสนอ Demo Day เพื่อประกวดนวัตกรรมที่พัฒนาผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ และยกย่องเชิดชูผลงานดีเด่น 3 ประเภท ซึ่งมีผลการประกวดมีดังนี้  ประเภทผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 4 รางวัล ได้แก่  รางวัลชนะเลิศ ตู้ตากพริกไทยพลังงานทางเลือกในการผลิตพริกไทยพรีเมี่ยม  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เครื่องปอกไข่ไก่ต้ม  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เครื่องคัดขนาดไข่นกกระทาด้วยเทคโนโลยี Image Processing  รางวัลชมเชย ระบบควบคุมการฟักไข่แบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IoT  ประเภทผู้ประกอบการต้นแบบ 4 รางวัล ได้แก่  รางวัลชนะเลิศ Innovative Coffee  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บริษัท บ้านสวนมรดกพริกไทยตรัง จำกัด  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โรงปูนอุ่นดิน  รางวัลชมเชย สวนตาเชยเกษตรฟาร์ม 

ประเภทบุคลากรพัฒนาผู้ประกอบการดีเด่น 4 รางวัล ได้แก่  รางวัลชนะเลิศ อาจารย์ณัฐรดา บุญถัด อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐานวิทย์ แนมใส และอาจารย์ธีระวัฒน์ เพชรดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ดร.บุญเรือน สรรเพชร และอาจารย์วันทนา สังข์ชุม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รางวัลชมเชย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายใจ แก้วอ่อน อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรม และ ดร.พิมพิศา พรหมมา วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่หลากหลาย ในส่วนของโครงการนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างอาจารย์กับผู้ประกอบการ เพื่อร่วมกันส้างผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม เพื่อยกระดับให้มีความสารถในการแข่งขันทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการตลาด การสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อร่วมสร้างให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความเข้มแข็งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”