มรภ.สงขลา ส่งอาจารย์ร่วมบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) รุ่นที่ 4


13 พ.ค. 2567

สถาบันวิจัยฯ มรภ.สงขลา คัดเลือกตัวแทนอาจารย์ส่งเข้าร่วมฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) รุ่นที่ 4 จัดโดย วช. ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์วิจัยและนวัตกรรมอย่างมีระบบ 

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ได้เปิดรับสมัครและคัดเลือกนักวิจัยเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) รุ่นที่ 4 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 29 เมษายน- 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องภัทรธรรมาภรณ์ ชั้น 9 อาคาร B มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยมี อาจารย์เพียรผจง อินต๊ะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์วรกร ภูมิวิเศษ อาจารย์อริสา ถาวรประเสริฐ อาจารย์พิมใจ พรหมสุวรรณ อาจารย์เปรมภาว์ ด้วงทอง อาจารย์ผกามาศ ไพโรจน์ จากคณะวิทยาการจัดการ และ อาจารย์นรารัตน์ ทองศรีนุ่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมการอบรม

การอบรมดังกล่าวจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย ให้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำวิจัยอย่างมีระบบ ถือเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมในมิติใหม่ที่มีการบูรณาการระหว่างสาขา และส่งเสริมให้นักวิจัยมีวิสัยทัศน์กว้างไกล การจัดฝึกอบรมสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานักวิจัย รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่จะสามารถทำงานวิจัยร่วมกันได้ อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีลักษณะบูรณาการและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ โดยมีผู้ผ่านการสมัครจำนวน 65 คน ผู้เข้าอบรมจะต้องผ่านหลักสูตรภาคทฤษฎี 19 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 19 ชั่วโมง และกิจกรรมเสริมหลักสูตร 2 ชั่วโมงตามที่ วช. กำหนด

อาจารย์เปรมภาว์ ด้วงทอง คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา หนึ่งในผู้เข้าอบรม กล่าวถึงความรู้สึกในการเข้าอบรมโครงการลูกไก่ว่า ถือเป็นโครงการที่เข้มข้นมาก ผู้เข้าอบรมต้องใช้พลังค่อนข้างมาก วิทยากรพร้อมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัยโดยเน้นการหาแหล่งทุนสนับสนุนการทำวิจัย เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ และช่วยเพิ่มโอกาสในการหาแหล่งเงินทุนวิจัย คิดว่าเป็นโครงการที่เหมาะสำหรับนักวิจัยเชิงพื้นที่ เน้นช่วยแก้ปัญหาชุมชนซึ่งสอดคล้องกับ มรภ.สงขลา แต่เนื่องจากหลักสูตรค่อนข้างใช้เวลานาน และมุ่งเน้นงานที่ตอบโจทย์ของ วช. ดังนั้น จึงอาจไม่เหมาะกับนักวิจัยที่ใหม่มากๆ หรือวิจัยเชิงทฤษฎี หากต้องการมาเพิ่มความรู้ในงานวิจัยอาจไม่ตรง แต่หากต้องการมาหาวิธีหาแหล่งทุนถือว่าเหมาะสมมาก