ม.อ.ไม่อนุญาตให้นักศึกษา – บุคลากรเล่น โปเกมอน โก ในเวลาเรียนและทำงาน


11 ส.ค. 2559

ม.อ.ไม่อนุญาตให้นักศึกษา - บุคลากรเล่นเกมออนไลน์ “โปเกมอน โก” ในเวลาเรียน - ทำงาน และขอความร่วมมือบุคคลภายนอกเช่นกัน

13876562_1078565928887848_7708324051433851140_n.png

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงกรณีเกมออนไลน์ “โปเกมอน โก” ที่กำลังเป็นที่นิยมกันในกลุ่มคนวัยเรียน โดยมีผู้เป็นห่วงว่าจะกระทบกับการเรียนของเยาวชนว่า หลังจากที่โปรแกรมนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย ก็เริ่มเห็นความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น และพบเห็นนักศึกษาจับกลุ่มกันเล่นในบางพื้นที่ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีผู้เล่นเกมจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทำให้กระทบกับการทำงานและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งบางพื้นที่เป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่เช่นในโรงพยาบาลเป็นต้น นอกจากนั้น อาจกระทบกับการเรียนของนักศึกษาในช่วงเวลาเปิดเทอม และการทำงานของบุคลากร

มหาวิทยาลัยจึงได้มีประกาศไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาเล่นเกมออนไลน์ “โปเกมอน โก” ภายในพื้นที่และอาคารต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ห้ามนักศึกษาเล่นเกมดังกล่าวในเวลาเรียน และ ห้ามบุคลากรเล่นเกมนี้ในเวลาทำงาน

รศ.ดร.ชูศักดิ์.JPG

ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะเพิ่มการให้ความรู้แก่นักศึกษาและเยาวชน เกี่ยวกับเรื่องเกมส์ออนไลน์ เนื่องจากในระยะต่อไป แม้“โปเกมอน โก” จะหมดความนิยมลงแต่จะมีเกมส์อื่นเข้ามาแทนที่ซึ่งต้องมีการระมัดระวัง หรือ อาจห้ามเล่นเกมส์ดังกล่าวในบางพื้นที่

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ กล่าวว่า เกมมีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยข้อดีคือ สามารถเป็นเครื่องมือการตลาดที่ดี ในการส่งเสริมกิจการทางธุรกิจ เป็นการสร้างจุดสนใจเพื่อนำมาสู่การรู้จักและใช้บริการ หรือสามารถนำไปประกอบในการเดินออกกำลังกาย แต่ต้องระวังการพะวงกับการดูโทรศัพท์เวลาเดินอาจเกิดอุบัติเหตุได้

แต่ปัญหาคือ แม้จะเป็นโปรแกรมที่โหลดฟรี แต่มีการแฝงด้วยการขายสินค้า หรือที่เคยได้ยินว่าเกมส์บางเกมส์ที่เราเล่นจะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อให้ สามารถเอาชนะผู้อื่นได้ ซึ่งประเภทนี้จะมีมากขึ้นในอนาคต หากเล่นโดยไม่รู้เท่าทันจะทำให้เสียทรัพย์โดยไม่จำเป็น นอกจากนั้น ความเป็นสื่อโซเชียลอาจจะทำให้เกมส์กลายเป็นเครื่องมือในการล่อลวงบุคคลให้ เข้าไปในพื้นที่อันตราย เพื่อการก่ออาชญากรรม

ข้อมูลและที่มา

http://www.psu.ac.th/th/node/7563