มรภ.สงขลา ปั้นกลุ่มเครื่องแกงทุ่งเอาะ จะนะ รับโล่หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์ฯ


29 ส.ค. 2559

มรภ.สงขลา สวมบทพี่เลี้ยงพัฒนากลุ่มเครื่องแกงทุ่งเอาะ อ.จะนะ ใช้เวลา 3 ปีก้าวข้ามอุปสรรคสู่ความสำเร็จ ติด 1 ใน 21 หมู่บ้านทั่วประเทศ รับโล่หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

01.jpg
เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.เสาวนิตย์ ชอบบุญ อาจารย์ประจำโปรแกรมชีววิทยาและชีววิทยาประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะหัวหน้าโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : หมู่บ้านเครื่องแกง พร้อมด้วย ดร.สุวรรณี พรหมศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ และ นายอ่ำ บุญเรืองรุ่ง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครื่องแกงทุ่งเอาะ ต.สะพานไม้แก่น อ.จะนะ จ.สงขลา รับมอบโล่หมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จาก นายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ประจำปี 2559 โดยมี 21 หมู่บ้านทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้

03.jpg

ผศ.เสาวนิตย์ ชอบบุญ


ผศ.เสาวนิตย์ กล่าวว่า หมู่บ้านเครื่องแกงทุ่งเอาะก่อตั้งเมื่อปี 2551 ได้รับการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2559 จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ได้รับเรื่องขอความช่วยเหลือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมเครื่องแกงบ้านทุ่งเอาะ ให้ช่วยแก้ปัญหาการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์แกง และช่วยยืดอายุการเก็บเครื่องแกง หลังจากนั้นคณาจารย์ได้เข้าให้การอบรม แต่เนื่องจากทางคณะมีงบประมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงโรงเรือน จึงขอทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้อบรมให้ความรู้และปรับปรุงโรงเรือน โดยได้รับทุนสนับสนุนปี พ.ศ. 2556-2558 หลังจากได้รับทุนทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงบ้านทุ่งเอาะ ผลิตเครื่องแกงเพิ่มขึ้น จากเดิมสัปดาห์ละประมาณ 50-60 กก. เพิ่มเป็น 200-220 กก. หรือประมาณ 3 เท่า โดยกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากสมาชิกหาตลาดเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยสาเหตุทางเศรษฐกิจตกต่ำ ราคายางพาราลดลง ทำให้มีการชะลอบ้าง แต่ยังสามารถดำเนินกรรมอยู่ได้ นอกจากนี้ ในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานบวช หรืองานแต่งงาน จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น ตามแต่ความต้องการของท้องถิ่น
หัวหน้าโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้าน ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น เนื่องจากมีสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากขึ้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีความยั่งยืน สามารถอยู่รอดได้ เนื่องจากมีอาคารและอุปกรณ์ได้มาตรฐานการผลิต มีบุคคลที่เชี่ยวชาญ แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน และท้องถิ่นมีเครื่องแกงที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน อย.  ไม่มีการผสมสารกันบูด จำหน่าย ที่สำคัญ กลุ่มวิสาหกิจชุมเครื่องแกงบ้านทุ่งเอาะ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนและนักศึกษาในท้องถิ่น โดยสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาดูงาน ไปเป็นแนวทางในการศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพได้ในอนาคต

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

02.jpg3-1.JPG6-1.JPG7.JPG