“น้ำเต้าขาควาย” การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง @ โรงเรียนบ้านท่าน้ำเค็มใต้


8 ต.ค. 2559

“น้ำเต้าขาควาย” การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ภายใต้แนวคิดร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมชื่นชม"

3.jpg

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถูกน้อมนำเข้าสู่การจัด การเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกแห่ง โดยเป้าหมายสำคัญ  คือ การปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียง เห็นคุณค่าของทรัพยากรต่าง ๆ รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และแบ่งปัน มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ค่านิยม เอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย โดยที่ไม่หลงไปกับกระแสสังคมในปัจจุบัน  

โรงเรียนบ้านท่าน้ำเค็มใต้  หมู่ที่ 10  ต.ท่าแพ  อ.ท่าแพ  จ.สตูล  เป็นโรงเรียนหนึ่งที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้าสู่การเรียนการสอนโดยบูรณาการในหลักสูตรสถานศึกษา และวิชาการงานอาชีพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6  เน้นทักษะกระบวนการทำงานเพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน   ซึ่งให้การเรียนรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียน  ก่อนนำสู่การปฏิบัติในภาค สนาม   เริ่มตั้งแต่เวลา  14:00 – 16:00 น.  โดยได้ปรับพื้นที่บริเวณโรงเรียน  เนื้อที่กว่า 1ไร่   เป็นแปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง  3 ลักษณะ  คือ 

1) แปลงผักสวนครัว 

2)  แปลงเรียนรู้  เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน  การปลูก  การดูแลรักษา  การเก็บเกี่ยวผลผลิต 

3) แปลงพ่อแม่ปลูกลูกรักษา ด้วยมุ่งหวังช่วยสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ ลูก  และลดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับผักที่ปลูกนั้น  มี  ผักบุ้ง  ผักกวางตุ้ง  ตะไคร้  พริก  มะละกอ  ชะอม  และจุดเด่นคือน้ำเต้าขาควาย (ลักษณะคล้ายฟักเขียว แต่ผลจะโตกว่ามาก)  ซึ่งเมื่อน้ำเต้าขาควายออกผลครั้งใด  เด็ก ๆ จะพากันตื่นเต้นดีใจมาก  เพราะน้ำเต้าขาควาย  มีผลที่ใหญ่และยาวคล้ายขาควาย  ถ้าผลโตเต็มทีน้ำหนักตกเฉลี่ยผลละ ประมาณ 7-8 กิโลกรัม  มี ความยาวเฉลี่ยประมาณ 60-80 เซนติเมตร เลยทีเดียว     

ผลผลิตจากเกษตรพอเพียงที่เกิดขึ้นทั้งหมด  นักเรียนจะแบ่งหน้าที่กันจัดการ เช่น  จัดทำบัญชีผลผลิต จัดจำหน่าย จัดแบ่งรายได้  โดยมีครูคอยให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด   ผลผลิตส่วนใหญ่จะจำหน่ายเข้าสู่โครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียน เพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันที่ให้แก่นักเรียน ผลผลิตที่เหลือจะจำหน่ายให้แก่ครู  ผู้ปกครอง และชุมชน  เงินที่ได้จากการจำหน่ายผลผลิตแต่ละครั้ง ส่วนหนึ่งหักเป็นรายได้แก่นักเรียนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ

นายอาหลี  ลิมานัน  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าน้ำเค็มใต้ กล่าวว่า โรงเรียนได้พันธุ์น้ำเต้าขาควายจากการไปศึกษาดูงานการศึกษาทางภาคเหนือ จึงได้นำมาให้นักเรียนทดลองปลูกร่วมกับการปลูกผักชนิดอื่น ๆ ในการเรียนรู้เกษตรพอเพียง พบว่านักเรียนเกิดความสนุกและมีความสุขในการเรียนรู้   ด้านผู้ปกครองก็เต็มใจเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ  ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการบริหารที่ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาได้  “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมชื่นชม”  

ขณะที่นางเจ๊ะมีด๊ะ  มะสมาน  ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า  รู้สึกดีใจที่ลูก ๆ ได้เรียนรู้เกษตรพอเพียงและได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ   ซึ่งคิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่สามารถนำกลับไปต่อยอดที่บ้านได้  ขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนและครูที่ให้โอกาสผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมของโรงเรียน

5.jpg6.JPG