กรมเจ้าท่า เดินหน้าจัดหาแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ที่สงขลา


13 ต.ค. 2559

กรมเจ้าท่า เดินหน้าสร้างความเข้าใจโครงการจัดหาแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ที่ จ.สงขลา มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่

_1080965_resize.JPG

วันนี้ (13 ต.ค.59) เวลา 10.00 น. ที่ ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการจัดหาแหล่งทรายเพื่อเสริมชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) โดยมี นางสาวจรวยพร ใยแก้ว ผู้แทนจากกรมเจ้าท่าเป็นผู้กล่าวรายงาน และมีผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นางจินตวดี พิทยเมธากูล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ฯลฯ เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดสงขลาประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอสิงหนคร อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา ซึ่งในส่วนของอำเภอเมืองสงขลา พื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว คือ บริเวณหาดชลาทัศน์ ซึ่งเป็นพื้นที่หาดทรายยาวและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่นิยมเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทุกๆ ปี สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่นำสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เรื่องของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นเรื่องสำคัญในการจะช่วยรักษาชายหาดให้คงอยู่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ และตามหลักวิชาการเรื่องของการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ดีและกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คือ การเติมทรายเสริมชายหาดนั่นเอง แต่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้เข้าใจอย่างถูกต้องจึงมีการประชุมขึ้นในครั้งนี้ และพร้อมจะเดินหน้าให้การสนับสนุนในทุกด้านอย่างเต็มที่

_1080987_resize.JPG

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการฯ  เปิดเผยว่า ทางกรมเจ้าท่าได้มีการว่าจ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการจัดโครงการศึกษาจัดหาแหล่งทรายเพื่อเติมทรายชายหาดป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง (นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) และได้นำผลการศึกษามานำเสนอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลาในครั้งนี้ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความต้องการปริมาณทรายเพื่อเสริมทรายชายฝั่งป้องกันการกัดเซาะ , การนำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในการดำเนินการขุดทราย ขนย้ายทรายออกจากแหล่งทรายและขั้นตอนการเติมหรือเสริมทราย

ทั้งนี้ ทางคณะผู้ศึกษาได้หาลักษณะแหล่งทรายที่มีศักยภาพในทะเล ประกอบด้วย 3 ประเภทหลัก ได้แก่ แหล่งทรายจากสันดอนใกล้กับชายหาดที่จะทำการเสริมทราย , แหล่งทรายจากเนินทรายที่สะสมตัวนอกชายฝั่งความลึกพื้นท้องทะเลไม่เกิน 15 เมตร และแหล่งทรายจากตะกอนแม่น้ำโบราณซึ่งอยู่ลึกจากพื้นท้องทะเลตั้งแต่ 2-46 เมตร ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีหาดท่องเที่ยวที่เห็นควรเติมทราย จำนวน 13 หาด หนึ่งในนั้น คือ หาดชลาทัศน์ของจังหวัดสงขลา ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ทรายในปริมาณ 525,000 ลูกบาศก์เมตร และตามหลักการจะต้องมีการเติมทรายทุกๆ 7 –10 ปี เพื่อรักษาชายหาดให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับสภาพเดิมต่อไป

ข้อมูลและที่มา

สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 13 ต.ค.59

โปรดปราน บุญธรรม / ภาพ

_1080984_resize.JPG_1080986_resize.JPG