สดร. ชวนจับตาดาวเคราะห์ 5 ดวง ปรากฏเหนือฟากฟ้าปลายมกราคม 59 นี้


20 ม.ค. 2559

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 20 มกราคม - 20 กุมภาพันธ์2559 จะสังเกตเห็นดาวเคราะห์ 5 ดวง ปรากฏเหนือฟากฟ้าในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์หาชมยาก เกิดล่าสุดเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ย้ำ!!! เป็นเหตุการณ์ปกติในการโคจรของดาวเคราะห์ไม่มีผลกระทบใดๆต่อโลก

Pic 01.jpg

ภาพจำลองการปรากฏของดาวเคราะห์ 5  ดวง ในวันที่ 25 มกราคม 2559 (จากโปรแกรม Stellarium)

ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม - 20 กุมภาพันธ์ 2559 นับเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตเห็นดาวเคราะห์ 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี  ปรากฏเรียงเป็นแนวบนท้องฟ้า สังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดจนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวง จะปรากฏในแนวใกล้กับเส้นสุริยวิถี หากหันหน้าไปทางทิศตะวันออก จะสังเกตเห็นดาวพุธอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้า ถัดขึ้นมาคือดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดีตามลำดับ

นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านแนวของดาวเคราะห์ทั้ง 5 อีกด้วย นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สวยงาม      หาชมยาก สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในทุกภูมิภาคของไทย หากใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจตื่นแต่เช้ามาชมปรากฏการณ์หาชมยากครั้งนี้

ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ปรากฏบนฟากฟ้าพร้อมกัน และเรียงเป็นแนวเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก ส่วนมุมมองจากอวกาศจะพบว่าดาวเคราะห์ไม่ได้เรียงกันเป็นเส้นตรงแต่อย่างใด เนื่องจากดาวเคราะห์แต่ละดวงต่างโคจรกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น โอกาสที่จะมาเรียงตัวในแนวเดียวกันปรากฏให้ผู้สังเกตบนโลกในเวลาเดียวกันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ครั้งล่าสุดเกิดเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ในช่วงธันวาคม 2547 – มกราคม 2548  ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงตัวนับเป็นเหตุการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อมนุษย์และโลก  ดร. ศรัณย์กล่าวปิดท้าย