ปภ.สงขลาเร่งหน่วยงานท้องถิ่นลงพื้นที่ เตรียมข้อมูลน้ำ หลังมีแนวโน้มประสบภัยแล้ง
ปภ.สงขลา เร่งหน่วยงานท้องถิ่นสำรวจพื้นที่ก่อน 29 ม.ค.59 เตรียมนำข้อมูลวิเคราะห์ร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำ หลังมีแนวโน้มประสบภัยแล้งจากเหตุฝนตกน้อยช่วงฤดูมรสุมที่ผ่านมา
นายอำนาจ ผลมาตย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่าขณะนี้จังหวัดสงขลายังไม่ มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง แต่จากการลงพื้นที่ของนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พบว่าชาวบ้านในบางพื้นที่ เช่น ที่อำเภอสิงหนครและตำบลปริก อำเภอสะเดา เริ่มมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เร่งประสานหน่วยงานในท้องถิ่นให้รายงานสถานการณ์น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำทำการเกษตรมายังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เพื่อสรุปแนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสงขลาภายในวันที่ 29 มกราคมนี้
หลังจากนั้นจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำทั้งหมดอาทิ หน่วยงานด้านชลประทาน หน่วยงานด้านทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ มาร่วมรับฟังข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เพื่อการวิเคราะห์ การวางแผนและการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งขณะนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการทยอยส่งข้อมูลเข้ามาแล้วบางส่วน ขณะที่ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดสงขลา มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ร้อยละ 70 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมของภาคใต้มีฝนตกเพียงเล็กน้อยทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บมีน้อยตามไปด้วย และจากการร่วมพูดคุยกับทางผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระบุว่าในปีนี้มีแนวโน้มเกิดภัยแล้งได้ เนื่องจากหลังจากนี้เป็นต้นไปจะมีฝนเข้ามาบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโย่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลาได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการเตรียมพร้อมป้องกันภัยแล้ง โดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานทหารที่มีรถน้ำ เครื่องสูบน้ำพร้อมที่จะลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเมื่อได้รับการร้องขอ
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนด้วยว่า ขอให้ทุกคนหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและร่วมกันประหยัดน้ำโดยการใช้น้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด พร้อมหาภาชนะในการกักเก็บน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น หากเกิดภัยขึ้นมาจริงๆ
สำหรับประชาชนที่ประสบภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลและที่มา
สุธิดา พฤกษ์อุดม / ข่าว สวท.สงขลา 23 ม.ค.59
โปรดปราน บุญธรรม / ภาพ