มรภ.สงขลา ลงพื้นที่เกาะแต้ว สอนชุมชนใช้พลังงานทดแทน-เจาะลึกสภาพปัญหา


31 พ.ค. 2560

 มรภ.สงขลา ดำเนินตามพันธกิจสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ยกนักศึกษา คณาจารย์เทคโนโลยีอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ ต.เกาะแต้ว จัดอบรมใช้พลังงานทดแทน หวังช่วยลดรายจ่าย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ชุมชน

76.jpg

                ดร.กันตภณ มะหาหมัด รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้เสนอโครงการบริการวิชาการสังคม เรื่อง การใช้พลังงานทดแทนเพื่อการประหยัดพลังงานแก่ชุมชน เทศบาลตำบลเกาะแต้ว (ทต.เกาะแต้ว) อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันระหว่างเทศบาลฯ คณาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา และตัวแทนชุมชน พบว่าประชาชนชนในเขตเทศบาลฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ได้แก่ ทำสวน ทำนา และ ทำประมง โดยมีการแปรรูปอาหารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและแสงแดด ซึ่งประสบปัญหาด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า และความสะอาดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ชุมชนจึงต้องการใช้พลังงานทดแทนในการแปรรูปผลิตภัณฑ์และใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและชุมชน มรภ.สงขลา ในฐานะสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เล็งเห็นถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมในครั้งนี้ขึ้น

                ดร.กันตภณ กล่าวว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานทดแทน และสามารถติดตั้งระบบการผลิตพลังงานทดแทนได้ด้วยตนเองตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ อาทิ กลุ่มประมงชายฝั่งต้องการตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอบอาหารทะเล กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการผลิตแก๊สชีวภาพไว้ในในครัวเรือน เนื่องจากมีมูลสัตว์จำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ กลุ่มปลูกพืชผักทางการเกษตรต้องการประกอบติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และปั้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เป็นต้น โดยทางโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมฯ ได้นำนักศึกษาและคณาจารย์ในโปรแกรมฯ มาให้ความรู้พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติในทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจากพลังงานทดแทนได้ ทั้งยังลดการใช้พลังงานภาคครัวเรือน เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของชุมชน และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน

71.jpg

                  ด้าน นายพิเชษฐ์ จันทวี รองอธิการบดี มรภ.สงขลา หนึ่งในทีมวิทยากร กล่าวว่า ต่อไปเรื่องพลังงานทดแทนจะสำคัญมากๆ เพราะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ในส่วนของ มรภ.สงขลา ได้ให้นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นงานที่สามารถใช้ประโยชน์กับชุมชนได้จริง ตนได้หารือร่วมกับ ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีฯ ในการลงพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งต้องให้คนในชุมชนรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งด้วย อีกเรื่องคือ การผลิตปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เนื่องจากเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรในระยะยาว ซึ่งหากประชาชนทั่วไปต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานทดแทน สามารถมาศึกษาดูงานได้ที่ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา จะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าโซล่าเซลแบบไหนเหมาะกับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดใด ทางมหาวิทยาลัยต้องการริเริ่มให้ความรู้จากศูนย์กลางก่อน จากนั้นจึงเจาะลึกลงไปในแต่ละชุมชน เนื่องจากหากเลือกติดตั้งอุปกรณ์ผลิตพลังงานทดแทนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อาจทำให้คนในชุมชนอื่นๆ พลาดโอกาสที่จะได้รับความรู้ในเรื่องนี้ไป    

                รองอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การจัดทำโครงการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ถือเป็นพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดังที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรีที่เกี่ยวข้อง ความว่า “ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน” ที่ผ่านมาพบว่าบางมหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินการให้เห็นผลแล้ว บางแห่งเพิ่งเริ่ม และบางแห่งยังไม่เคยดำเนินการ ถึงเวลาที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างลึกซึ้ง นำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมีอยู่เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ตรงจุดอย่างเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหา

                ขณะที่ นายสุรยุทธ จันทเขตร และ นายธีรศานต์ สุขสบาย สองนักศึกษาโปรแกรมวิชาไฟฟ้าอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ช่วยวิทยากร กล่าวว่า พวกตนช่วยทำถังหมักแก๊สชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ผลิตแก๊สชีวภาพ ติดตั้งที่ตลาดนัดเกาะหมี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าลดต้นทุนการใช้แก๊สหุงต้มที่มีราคาสูง ประกอบกับในตลาดนัดมีวัตถุดิบหลักอย่างเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ผลิตแก๊สชีวภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดปัญหาปริมาณขยะ และสร้างสภาพแวดล้อมในตลาดให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย  

                ปิดท้ายด้วยความรู้สึกจากผู้เข้าอบรม นางวรรณา บินรัตแก้ว และ นางขอดีย๊ะ ขุนฤทธิรงค์ กล่าวบ้างว่า ได้รับความรู้ที่ดีมากๆ แม้ที่ผ่านมาจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนมาบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้ทดลองทำ วันนี้มีโอกาสได้ฝึกทำด้วยตนเองปรากฏว่าไม่ยากอย่างที่คิด และอยากให้วิทยากรเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีแก๊สชีวภาพไว้ในครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้นำไปใช้ด้วย

75.jpg74.jpg73.jpg72.jpg

 ------------------------------------------------------------------------------------------
ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)