มรภ.สงขลา เปิดบ้านจัดประชุมอธิการบดีฯ ทั่วประเทศ


10 ต.ค. 2560

มรภ.สงขลา เจ้าภาพจัดประชุมอธิการบดีฯ ทั่วประเทศ ผนึกกำลัง 38 ราชภัฏขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น สนองพระบรมราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ควบคู่เป็นต้นทางผลิตครูคุณภาพ

DSC_8551.JPG

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานอธิการบดี มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า นับเป็นครั้งแรกที่ มรภ.สงขลา รับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอธิการฯ เนื่องจากตนต้องการเปิดเวทีให้บุคลากรได้เห็นกระบวนการในการจัดงานลักษณะนี้ และเกิดการเรียนรู้เพื่อนำมาพัฒนาตนเองและองค์กร ตามนโยบายและตัวชี้วัดของมหาวิทยาลัย โดยนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับไปทำแผนปรับปรุงงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อภาพลักษณ์และผลงานที่ดียิ่งขึ้นขององค์กร ขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ได้มาเยือน มรภ.สงขลา เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้แสดงศักยภาพ โดยเฉพาะด้านดนตรี ศิลปวัฒนธรรม ที่มีความโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงระดับประเทศ  

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม.jpg

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม

ผศ.ดร.นิวัต กล่าวว่า การประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การเลือกประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.) แทน รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ ที่จะหมดวาระในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 โดยที่ประชุมได้มีมติเลือก ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ เป็นประธาน ทปอ. คนใหม่ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเมื่อครั้งที่พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและคณะ เดินทางมาติดตามการดำเนินงานของ มรภ.สงขลา เมื่อไม่นานมานี้ ได้กล่าวไว้ว่า

 “พวกเราโชคดีเหลือเกินที่มีในหลวงมาเปิดฟ้าให้ ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำปรามาสเกี่ยวกับความเป็นราชภัฏ ซึ่งบางเรื่องไม่ใช่ แต่บางเรื่องก็ต้องยอมรับ ประกอบกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โลกเปลี่ยน การศึกษากลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่ต้องมีการแย่งลูกค้า ในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงพระราชทานแนวทางในการทำงานของราชภัฏ ด้วยการยกระดับ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาตัวเอง สิ่งที่พระองค์ท่านแนะนำผ่านมายังผมคือการทำงานให้เข้าเป้า ต้องวิเคราะห์ รับทราบปัญหา และทราบความต้องการของท้องถิ่น สิ่งที่อยากเห็นคือ งานวิจัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของราชภัฏ ส่วนเรื่องวัฒนธรรมทำได้ดีอยู่แล้ว แต่มันยังไม่พอ ชาวบ้านจะรู้จักเราได้ด้วยการเข้าไปหาเขา อยากฝากให้สื่อสารไปยังประชาชนในพื้นที่ของท่านว่า การพัฒนาท้องถิ่นคือพันธกิจของราชภัฏ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ตนลงมาในครั้งนี้คือ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงห่วงใยประชาชนไม่แพ้กษัตริย์พระองค์ใด ทรงมีความผูกพันกับคนราชภัฏมานาน พระองค์จึงจริงจังถึงขนาดส่งองคมนตรีมาดูแลอย่างใกล้ชิด”

อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ที่ประชุมอธิการบดีฯ ได้หารือกันถึงประเด็นการขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น โดยอาจมีการทำปฏิญญาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีการหารือในประเด็นการผลิตครู ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ  องคมนตรี ให้ความสำคัญ โดยได้กล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือน มรภ.สงขลา ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รับสั่งให้ไปดูการพัฒนาครูให้มีคุณภาพ ซึ่งราชภัฏคือต้นทางในการผลิตครู คำว่าคุณภาพจะวัดที่จำนวนสอบบรรจุอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะตัวชี้วัดที่สำคัญคือ การเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งครูใหม่ๆ อาจยังทำได้ไม่ดีนัก จึงอยากให้ทางคณะครุศาสตร์ช่วยดูที่ตัวหลักสูตรว่าได้ให้ความรู้แก่นักศึกษามากพอหรือยัง รวมถึงเทคนิคการสอนต่างๆ ด้วย

ต้อนรับอธิการฯ ทั่วประเทศ.JPGประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ.JPGDSC_8430.JPGDSC_8265.JPGมอบของที่ระลึก.JPGนศ.ร่วมให้การต้อนรับ.JPG

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)