มรภ.สงขลา ออกค่ายสร้างฝาย-ปลูกป่า ปั้นนักศึกษาอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ


2 พ.ย. 2560

ชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มรภ.สงขลา ออกค่ายสร้างฝาย-ปลูกป่า ปั้นนักศึกษาซึมซับศาสตร์พระราชา อนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ 

01.jpg

มรภ.สงขลา ตามรอยศาสตร์พระราชา นำนักศึกษาชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมกว่า 100 ชีวิตออกค่ายปลูกป่า คัดพันธุ์ไม้ชนิดดูดซับคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน พร้อมสร้างฝายต้นน้ำ อ.รัตภูมิ  

นายกมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ที่ปรึกษาชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงการนำนักศึกศึกษาในชมรมฯ จำนวน 103 คน ออกค่ายสร้างฝายต้นน้ำและปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ต้นน้ำ ณ ศูนย์เรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แนวพระราชดำริ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในทุกปีสมาชิกชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจะดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่ จ.สงขลา และใกล้เคียง โดยปีที่แล้วเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำ ส่วนปีนี้บูรณาการร่วมกับสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 จ.สงขลา จัดค่ายปลูกสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม รูปแบบกิจกรรมประกอบด้วย เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา เรียนรู้พันธุ์กล้าไม้ที่เหมาะสมต่อการดูดซับคาร์บอนเพื่อลดสภาวะโลกร้อน การจัดการขยะ ณ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และการจัดทำฝายต้นน้ำบริเวณพื้นที่เขาวัง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา      

อ.กมลนาวิน อินทนูจิตร .jpg

นายกมลนาวิน อินทนูจิตร

นายกมลนาวิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อันมีค่าของเรา คือ การปลูกจิตสำนึก สำนึกจะเกิดไม่ได้หากไม่มีแบบอย่างที่ดี คนไทยและเยาวชนไทยโชคดีที่มีแบบอย่าง เช่น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานมรดกอันยิ่งใหญ่ที่สุดในแก่คนไทย คือ ศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นของจริงทำแล้วดีจริง หวังว่าเยาวชนจะซึมซับศาสตร์พระราชาอย่างถูกต้องให้มากที่สุด เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไทย ในส่วนของ มรภ.สงขลา จะดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยจะเพิ่มพื้นปลูกต้นไม้ประมาณ 60% ทั่วมหาวิทยาลัย

ฮูซัย หนูหัน .jpg

นายฮูซัย หนูหัน

ด้าน นายฮูซัย หนูหัน ประธานชมรมสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากกิจกรรมดังกล่าวทำให้ทุกคนได้ร่วมเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างฝาย เเละปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต ได้ช่วยกันดูแลโลกที่เราอยู่อาศัย เเละรักษาสิ่งเเวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งแม้เราจะไม่สามารถปลูกต้นไม้ในหัวใจของทุกคนได้ เเต่สามารถทำให้ทุกคนเรียนรู้กระบวนการปลูกต้นไม้ และเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อทุกชีวิตบนโลกได้

23135003_10155088225291033_145294119_o.jpg22815266_1649570518428259_3201479227817185462_n.jpg22815315_1649570718428239_5975214932051501055_n.jpg22815326_1649570098428301_7982971520143213348_n.jpg22886276_1649570795094898_8857901691509016835_n.jpgปลูกป่าดูดซับคาร์บอน.jpg

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)