มรภ.สงขลา วางกรอบมหาลัยเพื่อท้องถิ่น ค้นจุดขายราชภัฏ ปั้นบัณฑิต-งานวิจัย


19 ก.พ. 2559

มรภ.สงขลา ระดมสมองกำหนดกรอบดำเนินงานรอบ 3 ปี สังเคราะห์จุดเด่นราชภัฏ เดินหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตมีความรู้คู่ความดี เพิ่มงานวิจัยขึ้นห้าง ใช้ประโยชน์ได้จริง  

1.JPG
 ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า จากที่สภา มรภ.สงขลา ได้จัดสัมมนากำหนดทิศทางดำเนินงานและนโยบายด้านการตลาด/พันธกิจ มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ด้านการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และ ด้านการบริหารจัดการ ในการนี้ผู้เข้าสัมมนาซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ มรภ.สงขลา และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก รวมกว่า 100 คน ได้ร่วมกันระดมสมองกลุ่มย่อย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งผลการหารือกลุ่มย่อยด้านการตลาด/พันธกิจฯ ได้ข้อสรุปว่า ควรดำเนินการให้ครอบคลุมทุกเรื่อง เริ่มจากผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เชื่อมโยงการเรียนการสอนสู่ภาคปฏิบัติ จัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงการบริการวิชาการกับสถานประกอบการที่มีองค์ความรู้ พัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาท้องถิ่นแบบร่วมสมัย และส่งเสริมความร่วมมือเชิงวิชาการกับท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดโจทย์วิจัยให้สอดคล้องกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และพัฒนางานวิจัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถต่อยอดไปถึงเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะด้านการเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง มรภ.สงขลา จะจัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว สำหรับเป็นกลไกผลักดัน

ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการด้านผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ ที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะว่าควรพิจารณาการรับนักศึกษาโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้งควรมีระบบดูแลและเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าเรียน จัดการเรียนการสอนตามศักยภาพของผู้เรียน สนับสนุนให้มีผลงานในระดับประเทศ และส่งเสริมให้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการ ขณะเดียวกันควรเตรียมความพร้อมของอาจารย์ โดยพัฒนาคุณภาพให้มีความรู้และถ่ายทอดได้ดี มีระบบการให้รางวัล และการลงโทษให้เหมาะสม เปิดโอกาสให้อาจารย์ได้เพิ่มเติมความรู้ในสถานประกอบการจริง นอกจากนั้น ควรบ่มเพาะนักวิจัยหน้าใหม่ และเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการวิจัยให้กับอาจารย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างกลไกการบริการวิชาการให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เพื่อให้เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานในสถานประกอบการ
 นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า ในส่วนของด้านการบริหารจัดการ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนคือการพัฒนาบุคลากรให้เป็นไปตามเกณฑ์การประกันคุณภาพของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมทั้งศึกษาจุดคุ้มทุนของการลงทุนหรือการพัฒนาโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม และจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และจุดยืนของแต่ละคณะ สำนัก สถาบัน ตลอดจนปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการบริหารงาน

ด้าน รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การเป็นสถาบันอุดมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ได้หมายถึงเรียนวิชาที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องไม่ลืมพันธสัญญาใน พรบ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น สิ่งที่ราชภัฏแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือการสผลิตครูและบัณฑิตที่พร้อมจะทำงานตอบแทนถิ่นเกิด แม้จะเป็นการทำงานท่ามกลางข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ มรภ.สงขลา ก็สามารถสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านศิลปะและวัฒนธรรมเป็นจุดแข็งของ มรภ.สงขลา ซึ่งอยู่ในมาตรฐานระดับชาติ  
ขณะที่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวระหว่างบรรยายเรื่องทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย ว่า มรภ.สงขลา ควรหาจุดยืนของตนเองให้ได้ และทบทวนว่าบทบาทของสภามหาวิทยาลัยคืออะไร ซึ่งในมุมมองของตน สภาฯ ควรประกอบด้วย 5 บทบาท ได้แก่ บทบาทที่ 1. ธรรมาภิบาล บทบาทที่ 2. กำหนดนโยบาย ทิศทาง มีพลังสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน มั่นคง มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งส่งออกมันสมองที่ดีออกสู่ตลาดงาน บทบาทที่ 3. หน้าที่ออกข้อบังคับ ระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดการปฏิบัติ สภาฯ ควรให้ความเป็นอิสระแก่ผู้บริหารในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ บทบาทที่ 4. หน้าที่อนุมัติแผนงานองค์กร งบประมาณประจำปี และ บทบาทที่ 5. หน้าที่ติดตามประเมินผล   

ข้อมูลและที่มา

ลัดดา เอ้งเถี้ยว  (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

2.JPG3.JPG4.JPG5.JPG6.JPG