นักวิจัย มรภ.สงขลา สกัดรากพาหมีต้านเชื้อราก่อโรคในข้าว คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีมาก


25 ก.พ. 2559

นักวิจัย มรภ.สงขลา ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคในข้าวของสารแดปโนรีตินที่สกัดจากรากพาหมี คว้ารางวัลผลงานวิจัยดีมาก ภาคบรรยาย กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เตรียมต่อยอดพัฒนาเป็นสูตรควบคุมโรคข้าวในอนาคต

01.jpg

 ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ อาจารย์โปรแกรมวิชาเคมีและเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมใหญ่โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา ครั้งที่ 4 The Fourth Higher Education Research  Promotion Congress (HERP CONGRESS IV) โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการส่งเสริมการวิจัยใน อุดมศึกษา 70 แห่ง “สร้างสรรค์วิชาการ สืบสานกระบวนไทย งานวิจัยระดับชาติ” ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการประกวดรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ ในงานดังกล่าวตนได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีมาก จากการนำเสนอผลงานในรูปแบบบรรยาย ประเภทงานวิจัยกลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพ จากผลงานวิจัยเรื่อง “ฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคในข้าวของสารแดปโนรีตินที่สกัดจากรากพาหมี”  โดยนำสารที่ได้ไปศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราก่อโรคในข้าว ได้แก่ โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคถอดฝักดาบหรือโรคข้าวตัวผู้ โรคกาบใบแห้ง โรคกาบใบเน่า และโรคดอกกระถิน ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกับ ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา

ผศ.ดร.ทวีสิน กล่าวถึงที่มาของการทำวิจัยว่า ข้าวเป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สามารถเพาะปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศ มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าพืชไร่นาชนิดอื่นๆ แต่การปลูกข้าวของไทยยังประสบปัญหาหลายด้าน ที่ทำให้ผลผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งโรคที่เกิดจากเชื้อราเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดต่อการเพาะปลูกข้าว ปัจจุบันมีการใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราฉีดพ่นป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งมีข้อเสียคือสารเคมีตกค้างในเมล็ดข้าว ในน้ำและดิน เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศน์ในระยะสั้นและระยะยาว ผู้วิจัยจึงใช้สารสกัดจากพืชคือรากของต้นพาหมี ซึ่งพบมากในแถบภาคใต้ตอนล่างของไทย มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร มาหาตัวทำละลายและสภาวะที่เหมาะสมในการแยกสารแดปโนรีตินจากรากพาหมี เพื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคในข้าว โดยผลการศึกษานอกจากจะเป็นข้อมูลพื้นฐานด้านการยับยั้งเชื้อราก่อโรคในข้าวแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาเป็นสูตรตำหรับเพื่อควบคุมโรคในข้าวต่อไปได้ในอนาคต

ข้อมูลและที่มา

ลัดดา เอ้งเถี้ยว  (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)

02.jpg

03.jpg