สธ.สงขลา เตือนประชาชนให้ระวังโรคพิษสุนัขบ้า หลังผลตรวจหัวสุนัขพบมีเชื้อเกือบครึ่ง


8 มี.ค. 2561

สธ.สงขลา เตือนประชาชนให้ระวังโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสัตว์กัดข่วนให้รีบพบแพทย์ฉีดวัคซีน และนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว จำนวน 2 คน ที่จังหวัดสุรินทร์ และสงขลา โดยทั้ง 2 คนถูกลูกสุนัขกัด เป็นแผลเล็กน้อย แต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจากรายงานกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปีนี้มีสุนัขและแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สูงกว่าปีที่ผ่านมา 1.5 เท่า ข้อมูลจากกรม ปศุสัตว์ ตั้งแต่เดือน มค – กพ 2561 พบสุนัขและแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยแล้ว จำนวน 247 ตัว และสำหรับจังหวัดสงขลาปี 2560 ส่งหัวสัตว์ตรวจจำนวน 135 หัว ผลพบเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 65 หัว คิดเป็นร้อยละ 48.15 โดยพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสัตว์ที่ส่งตรวจทุกอำเภอ

35.jpg

โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่คนที่นำโรคได้ทั้งสัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า เช่น สุนัข แมว วัว ควาย แพะ แกะ สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สุนัขเป็นสัตว์นำโรคหลัก ในประเทศไทย รองลงมาเป็นแมว สัตว์นำโรคส่วนใหญ่เป็นสัตว์จรจัดที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสม่ำเสมอ เชื้อโรคนี้มีระยะฟักตัว (ระยะเวลาที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการ) ประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางประการ ได้แก่ ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ และมือจะมีระยะฟักตัวสั้น

หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใด ๆ มา กัด ข่วน ทำร้าย ให้สันนิษฐานว่าสัตว์นั้นอาจมี โรคพิษสุนัขบ้าเสมอ รวมถึงลูกสัตว์ด้วย ซึ่งจะต้องกักสัตว์ที่ทำร้ายไว้สังเกตอาการจนครบ 10 วัน และถ้าเป็น สัตว์ป่า เป็นสัตว์ไม่มีผู้รับผิดชอบกักขัง หรือติดตามดูอาการไม่ได้ให้ปฏิบัติเสมือนว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ดังนั้นการล้างแผลและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ถูกสัตว์กัดทำร้ายไม่ป่วยตายจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยหากถูกสัตว์กัดหรือข่วนต้องล้างบาดแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดทันทีให้ลึกถึงก้นแผล พร้อมใส่ยารักษาแผลสดเพื่อกำจัดเชื้อที่แผล แล้วไป พบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเร็วที่สุด และต้องมาฉีดยาตามวันนัดหมายของแพทย์ เพราะวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าต้องฉีดให้ครบชุดถึงจะได้ผล ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและเสียชีวิตทุกคน 

นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขและกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามมาตรป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าตาม "มาตรการ 1-2-3" คือกรณีที่พบสัตว์ป่วย ให้กรมปศุสัตว์และกระทรวงสาธารณสุข แจ้งข่าว สอบสวน ควบคุมโรคร่วมกันภายใน 1 วัน, ให้ติดตามผู้สัมผัสโรคมารับวัคซีนภายใน 2 วัน และแจ้งข้อมูล และฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดเหตุ ในรัศมีอย่างน้อย 3 กิโลเมตรโดยตั้งเป้าผู้สัมผัสทุกคนต้องมารับวัคซีนได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ หากประชาชนมีสัตว์เลี้ยงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นประจำทุกปี โดยขอรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์หรือคลินิกตรวจรักษาสัตว์ใกล้บ้านทุกแห่ง

ทั้งนี้ ประชาชนควรเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบ หากเลี้ยงสัตว์จรจัดอยู่ก็ควรรับเป็นเจ้าของเพื่อดูแลสุขภาพ และฉีดวัคซีน ควรทำหมันสัตว์เลี้ยงหากไม่สามารถเลี้ยงลูกสัตว์ได้ และไม่นำสัตว์ไปทิ้งในที่สาธารณะซึ่งเพิ่มภาระให้สังคม สำหรับประชาชนทั่วไปควรการป้องกันสุนัขกัดด้วยแนวทาง 5 ย. คือ อย่าแหย่ (อย่าแหย่สุนัขให้โกธร) อย่าเหยียบ (อย่าเหยียบ ตัว หัว ขา หาง อย่าทำให้สุนัขตกใจ) อย่าแยก (อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า) อย่าหยิบ (อย่าหยิบอาหาร หรือชามขณะที่สุนัขกินอาหารอยู่) อย่ายุ่ง (อย่ายุ่งกับสุนัขที่ไม่ได้เลี้ยง)