มรภ.สงขลา เดินหน้าห้องสมุดของเล่น สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ ปี 2


13 มี.ค. 2561

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เดินหน้าห้องสมุดของเล่น สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ ปีที่ 2 ยกเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้สำหรับเด็ก ใช้เป็นสื่อกลางสร้างทักษะชีวิต

28071183_210963959643572_1547428714644785008_o.jpg

ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างพิธีส่งมอบห้องสมุดของเล่น สร้างสรรค์พลังพัฒนาการ ปีที่ 2 โดยมี ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีฯ เป็นประธานในพิธี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ของเล่นถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเล่นของเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ ทั้งยังเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะต่างๆ ในชีวิต ของเล่นที่เหมาะสมจะส่งเสริมความสามารถและทักษะทางการเคลื่อนไหวที่ดี ดังนั้น โปรแกรมวิชาภาษาไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริการวิชาการ จึงจัดกิจกรรมห้องสมุดของเล่นต้นแบบฯ ให้กับ ร.ร.วัดสามกอง ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบของการพัฒนาแหล่งสารสนเทศท้องถิ่น ในมิติที่เกิดจากความร่วมมือของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกับ มรภ.สงขลา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เกิดจิตสาธารณะ รวมทั้งผลิต บริการ และเผยแพร่สื่อของเล่นเพื่อการศึกษาที่หลากหลายรูปแบบแก่ท้องถิ่น

ดร.มุจลินทร์ ผลเกล้า อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ริเริ่มโครงการห้องสมุดของเล่น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางคณะฯ ได้จัดอบรม “การจัดห้องสมุดของเล่นและสร้างสรรค์วรรณกรรมสำหรับเด็ก” ให้แก่นักศึกษาและคณะครูของโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการวิชาการ จ.สงขลา โดยเชิญวิทยากรมากประสบการณ์ มาให้ความรู้ ก่อนลงพื้นที่สร้างห้องสมุดของเล่นต้นแบบให้กับ ร.ร.วัดสามกอง เพื่อเสริมร้างความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ผู้เข้าอบรมในหัวข้อจัดเสวนาการจัดห้องสมุดของเล่น และฝึกปฏิบัติการจัดห้องสมุดของเล่น โดย คุณประทุมรัตน์ รัตน์น้อย และ คุณอมรพรรณ พัทโร บรรณารักษ์ชำนาญการ เป็นวิทยากร นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายในหัวข้อ กลยุทธ์สร้างสรรค์วรรณกรรมสำหรับเด็กและ วิธีการเล่านิทานสำหรับเด็ก โดยมี อ.อัจฉรา ประดิษฐ์ อาจารย์ประจำวิชาสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เป็นวิทยากร

ดร.มุจลินทร์ กล่าวอีกว่า การฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เห็นภาพรวมของกระบวนการดำเนินงาน โดยวิทยากรได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริงที่ได้จากการทำงาน เพื่อให้การจัดโครงการในครั้งนี้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด ประการสำคัญ ผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนได้อีกด้วย ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจในทุกกิจกรรม และต้องการให้จัดกิจกรรมกลยุทธ์สร้างสรรค์วรรณกรรมสำหรับเด็ก และ วิธีการเล่านิทานสำหรับเด็กอีกครั้ง โดยอยากให้ขยายเวลาและขยายพื้นที่ให้ทุกโรงเรียนทั่ว จ.สงขลา ได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งในขณะนี้ได้รับการอนุมัติจาก อ.กีรกิต จิตสมบูรณ์ ประธานโปรแกรมวิชาภาษาไทย ให้จัดโครงการฝึกอบรมดังกล่าว และเชิญ อ. อัจฉรา อีกครั้งเร็วๆ นี้

ด้าน อ.ณทรัตน์จุฑา ไชยสวัสดิ์ อาจารย์ผู้สอนรายวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก กล่าวบ้างว่า ตนนำนักศึกษาในรายวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มาเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อให้นักศึกษานำความรู้และเทคนิคดีๆ ที่ได้จากการฝึกอบรม ไปสร้างสรรค์ผลงานนิทานสำหรับเด็กแบ่งปันแก่น้องๆ ร.ร.วัดสามกอง ในโครงการห้องสมุดของเล่นต้นแบบฯ

ขณะที่ น.ส.สุริยานี มะอุเซ็ง นักศึกษาโปรแกรมวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนได้รับจากการเข้าร่วมฝึกอบรมในครั้งนี้ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กได้เป็นอย่างดี และทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นล้วนเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่จะนำไปใช้กับน้องๆ เพื่อสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่พวกเขา

28164696_210962302977071_1607170519731932511_o.jpg28161763_210961866310448_9096880010596313946_o.jpg28234918_210964479643520_202347826247736418_o.jpg26992534_10213261179297605_228846471096411365_n.jpg28235599_210962199643748_4511094982817036350_o.jpg26992590_10213261184217728_339777451396893345_n.jpg

ข่าวโดย/ ลัดดา เอ้งเถี้ยว (นักประชาสัมพันธ์ มรภ.สงขลา)