ม.สงขลานครินทร์ สร้างแบรนด์สู่สถาบันแห่งการเรียนรู้ระดับสากล


23 มี.ค. 2561

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างการรับรู้ภาพของมหาวิทยาลัยสู่สากล โชว์ระบบอัตลักษณ์ความเป็นสถาบันวิชาการที่น่าค้นหาและเรียนรู้ ผ่านตราสัญลักษณ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ PSU

IMG_3677.JPG

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากการวิจัยความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยจากคนทุกกลุ่ม ทุกภาคของประเทศ ทำให้ได้ทราบว่า ความสนใจและการรับรู้ในบทบาทของมหาวิทยาลัยทั้งในเชิงวิชาการและบทบาทเพื่อชุมชน ส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงภูมิภาคภาคใต้ทั้งที่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผลงานด้านต่างๆ ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัยและนวัตกรรมในระดับนานาชาติจำนวนมาก

ความรับรู้ดังกล่าว แม้ไม่มีผลกระทบกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติ แต่เป็นผลให้มีสัดส่วนเยาวชนไทยจากภาคอื่นมาเรียนน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมองภาพมหาวิทยาลัยเป็นเพียงสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาค จึงต้องมีการสร้างระบบอัตลักษณ์ หรือ”แบรนด์” ของมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ขององค์กรในระดับสากล การรับรู้ความเข้มแข็งในภาพรวมของมหาวิทยาลัย และให้ประชาคมมหาวิทยาลัยคิด มองและพูดถึงสถาบันแห่งนี้ไปในทิศทางเดียวกันโดยเริ่มจากสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ได้มีการออกแบบสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากตราสัญลักษณ์เดิม โดยจะมีความเป็นสากลและทันสมัยเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ โดยเน้นที่ตัวย่อภาษาอังกฤษ PSU เป็นหลัก และสีของมหาวิทยาลัย คือ Navy Blue สัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต และแสดงถึงความเป็นมหาวิทยาลัยที่น่าค้นหา น่าเรียนรู้ภายใต้ความหลากหลาย เมื่อเข้ามาศึกษาได้เกิดความมุ่งมั่น สร้างความสำเร็จเพื่อสังคมและตนเอง ได้มีโอกาสค้นพบศักยภาพของตนเองในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ยังคงยึดมั่นในพระราชปณิธาน “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

1521649432232.JPEG

แบบสัญลักษณ์ดังกล่าว จะถูกนำไปประกอบในสื่อต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของภาพองค์กร

“สัญลักษณ์ใหม่ดังกล่าว เป็นก้าวแรกของการสร้างแบรนด์มหาวิทยาลัย ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของประชาคมมหาวิทยาลัย ที่จะร่วมกันสร้างกิจกรรมเพื่อประกาศความเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ตามแนวคิดของ “สงขลานครินทร์” ที่ไม่จำกัดแค่รั้วมหาวิทยาลัย แต่จะเรียนรู้สังคมกับผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม เรียนความรู้ของอนาคต เพื่อนำไปสร้างเป็นงานวิจัย นวัตกรรม ที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม รวมทั้งสร้างศักยภาพให้นำไปสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้กับโลก ” รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ กล่าว