อบจ.สงขลา รวมทุกภาคส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศอย่างยั่งยืน


7 มิ.ย. 2561

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดการประชุมประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นโครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาด ดึงภาคประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศอย่างยั่งยืน

3700301.jpg

วันนี้ (6 มิ.ย. 61) ที่อาคารศรีเกียรติพัฒน์ ภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นโครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาด โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และประชาสัมพันธ์นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากจังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกัน

นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นการประชุมเบื้องต้นเพื่อประชาสัมพันธ์ ชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นโครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาด ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงพื้นที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัดอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ การดูแลพื้นที่ที่มีความยาวและได้รับผลกระทบ ได้มีการศึกษาเป็นระยะ ๆ แบ่งการศึกษาเป็นช่วง ๆ เนื่องจากกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หรือกระแสน้ำ กระแสลม ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเป็นประจำทุกปี ส่งผลต่อบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมงชายฝั่ง ตลอดจนเส้นทาง ถนน โครงสร้างพื้นฐาน ศาสนสถาน และที่กระทบกระเทือนใจมากที่สุด คือ การกัดเซาชายฝั่งเข้าไปถึงบริเวณกุโบร์ สถานที่ฝังศพบรรพบุรุษของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันหาทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน และได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ บางครั้งการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาร่วมดำเนินการ จะช่วยสนับสนุนแผนโครงการของภาครัฐให้สำเร็จได้ดียิ่งขึ้น

ด้าน นางวีณา หนูยิ้ม ผู้อำนวยการส่วนบริหารพื้นที่ชายฝั่งและวิชาการ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2552 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 อนุมัติในหลักการของแนวทางการบูรณาการในการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลชายฝั่ง ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานองค์กร ตลอดจนสถานศึกษา ได้ศึกษา วิจัย เพื่อหาแนวทางมาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลจนได้ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยระบบหาด โดยใช้ธรณีสัณฐานชายฝั่งเป็นเกณฑ์การพิจารณาระบบกลุ่มหาด และแต่ละกลุ่มหาด เป็นระบบปิด คือไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือแลกเปลี่ยนของตะกอนระหว่างภายในกลุ่มหาดข้างเคียง ภายในกลุ่มหาดนั้น ๆ จะถูกควบคุม หรือกำหนดขอบเขตตามลักษณะทางธรณีสัณฐานชายฝั่ง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จำแนกกลุ่มหาดในประเทศไทยออกเป็น 64 กลุ่มหาด พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกประกอบด้วย 9 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ E1-E9 พื้นที่อ่าวไทยตอนบนมี 1 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ U พื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง มี 13 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ S1-S13 และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 41 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ A1-A41 สำหรับกลุ่ม S11 พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหาดทรายทอดยาวครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงพื้นที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ความยาวชายฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในทุกปี จึงมีความจำเป็นโดยด่วนที่จะต้องมีการจัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง

PNEWS18060609533700302.jpegPNEWS18060609533700309.jpegPNEWS18060609533700317.jpeg

ข่าวโดย ผู้สื่อข่าว : สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา