คณะแพทย์ ม.อ.จัดแถลงข่าวงาน THAI Colostomy Bags ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม


12 ก.ย. 2561

คณะแพทย์ ม.อ. ผลิตอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งสำไส้ใหญ่ ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ราคาไม่แพง  นำร่องโรงพยาบาลในภาคใต้ ลดต้นทุน  ลดการนำเข้า ช่วยเหลือชาวสวนยาง  คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ

page.jpg

วันนี้ (12 ก.ย. 61) ณ โรงแรมบุรีศรีภูบูติคโฮเต็ล มีการจัดงานแถลงข่าวงาน  THAI Colostomy Bags ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม “จากคนไทย สู่คนไทย” โดยมี ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ , ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา , รศ.ดร.ธีระพล ศรีชนะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา , พว.จันทร์ฉาย แซ่ตั้ง หัวหน้าฝ่ายบริการพยาบาล , นายนันทวัฒน์ พร้อมภูมิ หัวหน้าศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สถาบันพลาสติก ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้ และมี รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร่วมกล่าวต้อนรับ

ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ เปิดเผยว่า ชุด  THAI Colostomy Bags  หรือ ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ก็เป็นฝีมือของคนไทย “จากคนไทย สู่คนไทย” ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายภาคส่วนและผู้สนับสนุน เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากถวายเทียมมีอยู่หลากหลายชนิด / ชื่อทางการค้า โดยต่างนำเสนอรูปแบบตามความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายราคามีความแตกต่างกันตามชนิดและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ได้เองในเชิงอุตสาหกรรม ราคาแพง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า และภาครัฐต้องเสียงบประมาณสูง มีโรงพยาบาลหลายแห่งดัดแปลงอุปกรณ์ใช้แทนถุงทวารเทียม ประสบปัญหาระหว่างการใช้และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น  ระคายเคือง แป้นรั่วซึม หลุดง่ายและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์

และจากการศึกษาของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (2556-2558) สถิติการใช้แป้นและถุงทวารเทียมจากต่างประเทศ 2 ยี่ห้อบริษัท พบว่าราคาแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมจัดเป็นวัสดุสิ้นเปลืองที่มีราคาแพงแผ่นละ 122-188 บาท ตามขนาดและชื่อของผลิตภัณฑ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการสั่งซื้อโดยซื้อได้เดือนละ 5 แผ่น/คน ผู้ป่วยหรือญาติจำเป็นต้องเดินทางมาติดต่อซื้อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์บ่อยครั้ง และมีจำหน่ายเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางแห่งเท่านั้น หากคิดค่าใช้จ่ายในการใช้แผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมของต่างประเทศสำหรับผู้ป่วย จำนวนการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยในปี 2558 คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,368,547.33 บาทต่อปี

ข้อมูลข้างต้นเฉพาะโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น หากนับรวมถึงโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทุกแห่งในประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ในการซื้อวัสดุดังกล่าวจากบริษัทต่างประเทศ เนื่องจากราคาสูงจึงไม่ได้มีการนำมาจำหน่ายให้กับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างจังหวัดทั่วไป เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการระหว่างผู้ป่วยในเขตเมืองใหญ่และต่างจังหวัด หรือบางรายต้องใช้ตลอดชีวิต  สิทธ์การรักษาไม่สามารถเบิกได้ หรือมีฐานะเป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส อาจมีปัญหาในการดูแลทวารเทียม เนื่องจากผู้มีฐานะดีจะสามารถเข้าถึงวัสดุดังกล่าวที่มีราคาสูงได้ดีกว่า ซึ่งการมีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับทวารเทียมที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อความสามารถในการปรับตัวทางสังคมที่ดีขึ้น ตลอดจนอาจมีภาวะเครียดและกังวลจากข้อจำกัดในปริมาณการซื้อ รวมทั้งความไม่สะดวกในการเดินทาง

ประกอบกับนโยบายภาครัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการผลักดันให้ไทยในฐานะผลิตยางพารารายใหญ่สามารถใช้วัสดุประเภทยางในการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์หลากหลายชนิด เพื่อลดการนำเข้าอันเป็นการสูญเสียงบประมาณ รายจ่ายเกินความจำเป็นและกลับสามารถสร้าง ประโยชน์สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ

จึงมีความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนนำโดยคณะแพทย์ ม.อ. ในการนำยางมาสังเคราะห์ผลิตอุปกรณ์ และสิ่งสำคัญคือ การแพ้ยางโดยเฉพาะบริเวณรอบๆทวารเทียม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ผู้วิจัยจึงพยายามสกัดโปรตีนจากน้ำยาง เป็นชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมด้วยยางพาราชนิดสกัดโปรตีน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้ที่พยายามคิดค้นผลิตและดัดแปลงในรูปแบบอื่น ๆ และวัสดุอื่นที่มีราคาถูก เป็นวัตถุดิบหรือทรัพยากรที่สามารถหาได้ง่าย ย่อยสลายได้ง่าย มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในปัจจุบัน การพัฒนาชุดแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมโดยใช้ยางมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนแผ่นติดผิวหนังรอบทวารเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ  ออกแบบและผลิตถุงรองรับอุจจาระจากทวารเทียมขึ้นเพื่อใช้กับแผ่นติดผิวหนังที่พัฒนา มีประโยชน์ดีกว่าของเดิมคือ ถุงรองรับทวารเทียมที่สามารถลดกลิ่น เก็บเสียงอันไม่พึงประสงค์  สามารถย่อยสลายได้และออกแบบผลิตอุปกรณ์ฝาครอบพลาสติกขนาดเส้นรอบวงตามขนาดของทวารเทียม ให้มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างจากผลิตภัณฑ์ต่างประเทศได้เพื่อลดปัญหาการจดลิขสิทธิ์

หากสามารถผลิตชุดอุปกรณ์เพื่อดูแลทวารเทียมใช้ได้เองภายในประเทศสามารถช่วยลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลแห่งอื่นทั่วประเทศสามารถ เข้าถึงบริการได้โดยง่ายอย่างเท่าเทียมกันอันจะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของผู้มีทวารเทียมโดยรวมดีขึ้นและสามารถผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและมีความปลอดภัยสูงสุด

ซึ่งภายในงานมีการให้ความรู้ และรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่  รวมถึงที่มาของการจัดทำอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ที่มีการตัดลำไส้ทิ้งเนื่องจากภาวะการเป็นมะเร็งลำไส้ ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายทางทวารหนักตามปกติได้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมมากขึ้น ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ โดยนำเอาผลผลิตของยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้มาประยุกต์ใช้ จนเป็นผลสำเร็จ สามารถลดต้นทุนในการสั่งซื้อชุดทวารเทียมจากต่างประเทศ  ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง แต่ยังคงคุณภาพและประสิทธิภาพที่ได้มาตรฐานและเทียบเท่าชุดอุปกรณ์ทวารเทียมจากต่างประเทศ

และทางคณะแพทยศาสตร์ ได้มอบชุดอุปกรณ์รองรับถุงทวารเทียมให้กับผู้ป่วยอีก 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี ,โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, โรงพยาบาลตรัง,โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป

IMG_0580.jpgIMG_0505.jpgIMG_0551.jpgIMG_0528.jpgIMG_0513.jpgIMG_0487.jpgIMG_0582.jpgIMG_0584.jpgIMG_0567.jpgIMG_0570.jpgIMG_0573.jpgIMG_0533.jpg