สงขลา เดินหน้านำเสนอแผน มาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่


16 พ.ย. 2561

จังหวัดสงขลา เดินหน้านำเสนอแผน มาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่ มุ่งจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาดอย่างต่อเนื่อง

IMG_7129.jpg

วันนี้ (16 พ.ย. 61) ที่อาคารศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอแผนมาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่ โครงการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งระบบหาด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ นายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา , นายมาหะมะพีสกรี วาแม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 200 คน

นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งส่วนใหญ่เกิดจากคลื่นลมแรงและกระแสน้ำที่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่ง ทำให้มีการสึกกร่อนพังทลาย และเป็นต้นเหตุของการเกิดรูปร่างลักษณะของชายฝั่งทะเลที่แตกต่างกันไป ปัจจุบันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยตั้งแต่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน และทางราชการทำให้เสียทัศนียภาพ ซึ่งมีผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย โดยเฉพาะการกัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทย จะมีปริมาณเฉลี่ยการกัดเซาะมากกว่าชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทัศนียภาพชายฝั่งแหลมสมิหลา จังหวัดสงขลา เดิมมีหาดทรายที่กว้างและลึกมาก แต่ปัจจุบันน้ำทะเลกัดเซาะขึ้นมาถึงริมถนน เป็นผลมาจากคลื่นลมแรง ทำให้ชายหาดได้รับความเสียหาย ต้นสนโค่นล้มเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชายหาดที่แหลมสมิหลาลดลง 

IMG_6825.jpg

ดังนั้น การประชุมกลุ่มหาด S11 จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาวิจัยระบบหาด และแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะรวบรวมข้อมูลในการจัดทำแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่โดยระบบกลุ่มหาดอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ด้าน นายวิชัย มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 สงขลา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2552 อนุมัติในหลักการของแนวทางการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศ และให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลชายฝั่ง ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางมาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง จนได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยระบบหาด โดยใช้ธรณีสัณฐานชายฝั่งเป็นเกณฑ์การพิจารณาระบบกลุ่มหาด และแต่ละกลุ่มหาดถือว่าเป็นระบบปิด คือ ไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือแลกเปลี่ยนของตะกอนระหว่างกลุ่มหาดข้างเคียงภายในกลุ่มหาดนั้น ๆ ซึ่งจะถูกควบคุม หรือกำหนดขอบเขตตามลักษณะทางธรณีสัณฐานชายฝั่ง 

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จำแนกกลุ่มหาดในประเทศไทยออกเป็น 64 กลุ่มหาด พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ประกอบด้วย 9 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ E1-E9 , พื้นที่อ่าวไทยตอนบนมี 1 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ U พื้นที่อ่าวไทยตอนล่างมี 13 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ S1-S13 และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันมี 41 กลุ่มหาด ใช้สัญลักษณ์ A1-A41

สำหรับกลุ่มหาด S11 พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะทางกายภาพเป็นหาดทรายทอดยาวครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงเขตอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ความยาวชายฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง และต่อเนื่องทุกปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งร่วมกันต่อไป

กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย นำเสนอแผน มาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่ โดยวิศวกรชายฝั่ง , การนำเสนอแนวทางการใช้มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพ.ศ.2558  โดย นายพีรเดช คงเดชา นิติกรชำนาญการพิเศษ , การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแผนมาตรการแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเชิงพื้นที่ดำเนินรายการ โดย ดร.กิตติพจน์ เพิ่มพูล และคณะวิทยากร พร้อมสรุปผลการประชุม

IMG_7126.jpgIMG_7120.jpgIMG_6821.jpg

ข่าวโดย สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา รายงาน 16 พ.ย. 61