นักเรียนอนุบาลสตูล ค้นพบฟอสซิลแห่งใหม่ จากการเรียนด้วยกระบวนการวิจัย


26 มี.ค. 2559

การเรียนรู้จากเดิมที่มีครู ยืนถือชอร์คหน้ากระดานดำ พูดความรู้ให้ฟัง บอกให้จด ให้ท่องจำ ภายในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ คงจะไม่สามารถพัฒนาเด็กให้สามารถเรียนรู้หรือรู้ทันข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ต่าง ๆ ที่มีมากมาย หลากหลายแขนงที่มีอยู่ทุกที่บนโลกไร้พรมแดนแห่งนี้ ทว่าการปรับเปลี่ยนปฏิรูปการสอนแนวใหม่ที่สอนให้เด็กรู้จักวิธีการคิด รู้จักการแสวงหา/สืบค้น การคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ดังเช่นการเรียนด้วยกระบวนการวิจัยที่โรงเรียนอนุบาลสตูล ทำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ค้นพบแหล่งฟอสซิลแห่งใหม่ใน อ.เมือง จ.สตูล ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าสื่อต่าง ๆ ในขณะนี้

IMG_1796.JPG

โรงเรียนอนุบาลสตูล เป็นโรงเรียนมาตรฐานสากลเมื่อปี 2553 มีหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจับ 10 ขั้นตอนซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมนักเรียนให้รู้จักกระบวนการประชาธิปไตย การสื่อสาร การรู้จักแสวงหาความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ ความรู้จากชุมชน/อินเตอร์เน็ต/ธรรมชาติ และทุกอย่างรอบๆตัว นำไปสู่กระบวนการคิด การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์องค์ความรู้ในที่สุด

ในแต่ละปีเด็กทุกห้อง จะมีโครงงานการเรียนรู้ที่เป็นโครง งานตามความสนใจของเด็ก ทำให้มีความรู้ใหม่ ๆ จากโจทย์วิจัยเกิดขึ้นเสมอ กระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน เริ่มต้นจากเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว พัฒนาโจทย์ไปสู่โจทย์วิจัย ออกเก็บข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ พร้อมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่วิเคราะห์และประมวลผลพัฒนาเป็นองค์ความรู้ และนำเผยแพร่ให้ชุมชนหรือสาธารณชนทราบ ใช้เวลาในการเรียนรู้ 1 ปีการศึกษา

อย่างเช่นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/6 ทำโครงงานศึกษาเรื่องตามรอยฟอสซิลในพื้นที่ อ.เมืองสตูล

กระบวนการเรียนรู้ เริ่มต้นจากการที่นักเรียนในห้องเสนอโจทย์โครงงาน และเหตุผลสนับสนุน จากนั้นก็จะมาร่วมกันลงเสียงโหวตเพื่อเลือกโจทย์ที่จะเรียนร่วมกันทั้งห้อง จนได้โจทย์โครงงานที่จะศึกษาร่วมกัน คือ “ตามรอยฟอสซิลในพื้นที่ อ.เมืองสตูล” เนื่องจากมีความสนใจว่าจังหวัดสตูล มีฟอสซิลที่มีอายุค่อนข้างยาวนานที่สุดในประเทศไทย โดยมีครูฉวีวรรณ ฮะอุรา เป็นที่ปรึกษา เมื่อได้โจทย์ที่จะเรียนรู้แล้ว นักเรียนจะร่วมกันวางแผนการศึกษา สืบค้นความรู้ฟอสซิลจากอินเตอร์เน็ต หนังสือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล รวมถึงการได้รับความรู้และคำแนะนำจาก อ.ธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิธิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หลังจากนั้น นักเรียนเริ่มลงพื้นที่สำรวจสถานที่ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีซากฟอสซิลในท้องที่อำเภอเมืองสตูล ด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบฟอสซิลในอำเภอเมืองสตูล อาทิ เขาโต๊ะพญาวัง ถ้ำวัดถ้ำเขาจีน ริมคลองบ้านนาแค ฯลฯ

จนกระทั่งเมื่อมาลงพื้นที่สำรวจที่บ่อดินบริเวณบ้านปอเกาะยามู ต.ควนขัน อ.เมือง ซึ่งทำให้นักเรียนรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้พบกับซากฟอสซิลกระจัดกระจายทั่วบริเวณ เช่น ฟอสซิลหมึกโบราณ หรือนอร์ติลอย ขนาดความยาว 20 เซนติเมตร พลับพลึงทะเลหรือไครนอยด์ หอยกาบคู่หรือโฟสิโนโคมิญาจำนวนมาก โดยมีสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 สุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล ได้เดินทางลงมาพิสูจน์การค้นพบซากฟอสซิลในท้องที่ที่พบเจอด้วย

แต่การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้หยุดแค่เพียงได้ค้นพบฟอสซิลเท่านั้น นักเรียนกลับคิดต่อไปถึงการสร้างจิตสำนึกผู้ใหญ่ในท้องถิ่น ให้ร่วมรณรงค์อนุรักษ์บ่อหินสถานที่พบฟอสซิล เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชนและคนรุ่นหลังต่อไปอีกด้วย

นายสุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวว่า กรณีการเรียนรู้นักเรียน ป.4/6 ที่ไปค้นพบซากฟอสซิลในท้องที่ตำบลควนขัน อ.เมืองสตูล ทำให้เชื่อมั่นว่านวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย สามารถตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษาและนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และพัฒนานักเรียนใน 4 H คือ ด้านสมอง:Head ด้านจิตใจ:Heart ด้านอาชีพ:Hand และด้านสุขภาพ:Health อีกทั้งยังดึงให้หลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ร่วมตามหาซากฟอสซิลร่วมกับเด็ก ๆ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้ามาอนุรักษ์บ่อดินแหล่งฟอสซิล ตามคำเรียกร้องของเด็กๆ

IMG_0235.JPGIMG_0237.JPGIMG_1815.JPG