อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรสงขลา


11 ม.ค. 2562

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ลงพื้นที่ จ.สงขลา ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร 1 ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ

IMG_0015.jpg

วันนี้ (11 ม.ค. 62) ที่ ห้องประชุมฑิฆัมพร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรของจังหวัดสงขลา โดยมี นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายแพทย์อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน

ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรแบบครบวงจรในระดับจังหวัด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน มีเป้าหมายส่งเสริมเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย ส่งเสริมการนำสมุนไพรไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพนำออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มการใช้บริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในสถานบริการภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเชียงราย ปราจีนบุรี สกลนคร สุราษฎร์ธานี และในปีงบประมาณ 2561 เพิ่มจังหวัดเป้าหมายอีก 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด พิษณุโลก อุทัยธานี มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ สระบุรี นครปฐม จันทบุรี และสงขลา เพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบเมืองสมุนไพรระดับจังหวัด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกของประชาชน โดยมีเป้าหมาย คือ โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสงขลา 192 แห่ง แพทย์แผนไทย บุคลากรสาธารณสุข คณะทำงาน วิทยากร ผู้เกี่ยวข้องในสถานบริการทุกระดับจำนวน 60 คน คณะกรรมการ คณะทำงานโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพร ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คน ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 50 คน

โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานในการสร้างความเข้มแข็งของการบริหารและการจัดการเพื่อการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรยกระดับมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร การขยายช่องทางการใช้ประโยชน์เพื่อมูลค่าและการตลาด การส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ

ในส่วนของจังหวัดสงขลา มีการจัดกลุ่มแกนนำผู้ปลูกสมุนไพรเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขาพระ อำเภอรัตภูมิ กลุ่มทุ่งจัง อำเภอหาดใหญ่ กลุ่มท่าโพธิ์ อำเภอสะเดา กลุ่มทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ กลุ่มวัดดินลาน อำเภอบางกล่ำ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้ที่วัดเกษตรวิถีธรรม อำเภอนาทวี ซึ่งขณะนี้ความต้องการสมุนไพรเพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรที่ใช้ในโรงพยาบาลของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย ฟ้าทะลายโจร 600 กิโลกรัม ขมิ้นชัน 500 กิโลกรัม ไพล 175 กิโลกรัม เพชรสังฆาต 60 กิโลกรัม และเถาวัลย์เปรียง 325 กิโลกรัม โดยในส่วนของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมีจำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย เยลลี่หญ้าดอกขาวสำหรับลดความอยากบุหรี่ ตำรับยาสมุนไพรสำหรับรักษาแผลเรื้อรัง เครื่องดื่มผสมสารสกัดจากส้มแขก และมาร์กหน้าผสมสารสกัดจากส้มแขก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาบุคลากร และพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกอย่างต่อเนื่อง

IMG_9914.jpg

 ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมในช่วงเช้า อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพหาดใหญ่ชีวาสุข ภายในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรค สู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

IMG_9986.jpgIMG_9999.jpg

 ข่าวโดย สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา รายงาน 11 ม.ค.62