นักวิจัย ม.ทักษิณ คิด “ชุดทำสลบแมลงหวี่” ปลอดภัยลดเสี่ยงสุขภาพจากการทดลองด้านพันธุศาสตร์


14 มี.ค. 2562

นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ไอเดียเจ๋ง ประดิษฐ์คิดค้น “ชุดทำสลบแมลงหวี่” สำหรับเตรียมตัวอย่างการศึกษาทดลองปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์แบบใหม่ ทดแทนการทำสลบแบบเดิมที่ใช้สาร Diethyl ether (ไดเอทิล อีเทอร์) ซึ่งเสี่ยงกระทบต่อสุขภาพของนักวิจัยในระยะยาว สร้างความมั่นใจการเรียนการสอนทางด้านชีววิทยา

นางสาวมาณี แก้วชนิด นักวิชาชีพชำนาญการพิเศษ สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณเจ้าของผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ชุดทำสลบแมลงหวี่” อนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 14235 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการใช้แมลงหวี่ในการศึกษาทดลองว่า ในปัจจุบันการศึกษาทดลองปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ ส่วนใหญ่ใช้แมลงหวี่เป็นสัตว์ทดลอง ซึ่งจากเดิมการทำสลบแมลงหวี่เพื่อการศึกษาจะทำสลบด้วยสารไดเอทิล อีเทอร์ วิธีการคือ หยดไดเอทิล อีเทอร์ลงในขวดแก้วปากกว้างที่มีสำลีวางอยู่ก้นขวด แล้วนำกรวยกรองพลาสติกที่เสียบอยู่กับจุกยางซึ่งเสียบต่อพอดีกับกล่องพลาสติกทรงกระบอกขนาดเล็กสำหรับรองรับแมลงหวี่ กล่องดังกล่าวเจาะรูไว้โดยรอบเพื่อให้ไดเอทิล อีเทอร์ระเหยเข้าไปภายในกล่อง ทำให้แมลงหวี่สลบ ก่อนนำมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ วิธีนี้ทำให้แมลงหวี่สลบได้เพียง 3-5 นาที จากนั้นต้องทำการสลบใหม่

“การใช้วิธีการนี้พบว่า การสลบแมลงหวี่ต้องใช้สารไดเอทิล อีเทอร์ในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลต่อผู้ทำการศึกษาเนื่องจากสารไดเอทิล อีเทอร์ มีข้อเสียคือเป็นของเหลวที่มีจุดวาบไฟต่ำ ติดไฟได้ง่าย มีกลิ่นเหม็น เป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อใช้ประจำติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานได้ ดังนั้น จึงคิดค้น “ชุดทำสลบแมลงหวี่” สำหรับเตรียมตัวอย่างการศึกษาทดลองปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์แบบใหม่ ทดแทนการทำสลบแบบเดิมด้วยสารไดเอทิล อีเทอร์ ที่เสี่ยงกระทบต่อสุขภาพของนักวิจัยขึ้นมา” นางสาวมาณี แก้วชนิด กล่าว

ชุดทำสลบแมลงหวี่ตามการประดิษฐ์นี้ มีลักษณะเฉพาะคือทำจากวัสดุใส ประกอบด้วยสามส่วนหลักคือส่วนตัวกล่อง
(1) ซึ่งประกอบด้วยกล่องทรงเหลี่ยมใส ภายในจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป และส่วนด้านบนเปิดออกและติดแผ่นกรอง
(2) สำหรับวางตัวอย่างแมลงหวี่โดยที่แผ่นกรองมีความหนา แข็งแรงและพรุนเพื่อให้ก๊าซผ่านขึ้นไปบนแผ่นกรองทำให้แมลงหวี่สลบได้ ส่วนด้านข้างของกล่องเจาะรูเพื่อเป็นทางเข้าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นชุดท่อนำก๊าซ
(3) ประกอบด้วยจุกยางที่มีหลอดแก้วกลวงเสียบอยู่และต่อพอดีกับสายยางนำก๊าซ โดยมีขั้นตอนการใช้งานดังนี้

  • โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในกล่อง (1) ด้วยท่อนำก๊าซ (3)
  • ดึงท่อนำก๊าซ (3 ) ออกจากกล่อง (1) นำไปเสียบกับขวดที่มีแมลงหวี่ เพื่อทำให้แมลงหวี่ภายในขวดสลบก่อนโดยสอดปลายท่อหลอดแก้วอีกด้านแทรกเข้าไปตรงขอบปากขวดด้านใน ซึ่งปากขวดนี้จะปิดด้วยสำลี ทั้งนี้ให้เอียงปากขวดลงเล็กน้อยเพื่อให้แมลงหวี่ที่สลบไม่ตกลงไปบนอาหารภายในขวด
  • รอจนแมลงหวี่สลบจากนั้นนำท่อนำก๊าซ (3) ออก และนำไปเสียบเข้าทางรูด้านข้างของกล่อง (1) ก๊าซจะผ่านเข้าไปภายในกล่องผ่านขึ้นไปยังแผ่นกรอง
  • ถ่ายแมลงหวี่ที่สลบแล้วจากขวดลงบนแผ่นกรอง (2) ซึ่งติดอยู่ด้านบนกล่อง (1) แมลงหวี่ที่ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสลบอย่างต่อเนื่องและทำการศึกษาลักษณะแมลงหวี่

— แรงผลักดันในงานวิจัยประดิษฐ์ชิ้นนี้มาจากใจรักทุ่มเทและการพัฒนาในเนื้องานอย่างตั้งใจหลังจากผ่านการดูแล เลี้ยงและสืบทอดสายพันธุ์แมลงหวี่ กว่า 15 สายพันธุ์มายาวนานตามภารกิจการให้บริการตัวอย่างสายพันธุ์แมลงหวี่เพื่อการศึกษาด้านชีววิทยาแก่สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้ตอบโจทย์การบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่องด้วย

เรื่อง : รัชนีกร ชูเชิด
ภาพ : ปิยพงษ์ ทองดำหยู
** เครือข่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

https://we.tsu.ac.th/?p=3389&fbclid=IwAR3h8yLnyen1...