ชาวคลองหอยโข่ง เลี้ยงปลากระชัง จากรายได้เสริมกลายเป็นอาชีพหลัก หลังราคายางพาราตกต่ำ
ชาวบ้านท่าหรั่ง อ.คลองหอยโข่ง ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติเลี้ยงปลากดเหลืองและปลานิลในกระชัง จากรายได้เสริมกลายเป็นอาชีพหลัก หลังราคายางพาราตกต่ำ โดยเน้นขายในชุมชนไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
ที่คลองอู่ตะเภา ชาวบ้านบ้านท่าหรั่ง ม.7 ตำบลทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา หลายครัวเรือนจับมือกันเลี้ยงปลากดเหลืองและปลานิลในกระชัง โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติจากคลองอู่ตะเภาซึ่งเป็นพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 2,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดสงขลามีพื้นที่ลุ่มน้ำในเขตอำเภอหาดใหญ่ คลองหอยโข่ง นาหม่อม สะเดา บางกล่ำและบางส่วนของอำเภอควนเนียง
นายพิชิต ประทุมทอง ชาวบ้านบ้านท่าหรั่ง ม.7 ตำบลทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 1 ในผู้เลี้ยงปลากระชัง เปิดเผยว่า ตนเองและชาวบ้านในบ้านท่าหรั่งได้ยึดอาชีพเลี้ยงปลากระชังในคลองอู่ตะเภา หลังได้รับผลกระทบจากราคายางพารา ซึ่งแต่ก่อนได้เลี้ยงปลาในกระชังเป็นอาชีพเสริมแต่ปัจจุบันได้ยึดเป็นอาชีพหลัก สร้างรายได้ดีให้แก่ครัวเรือน การเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านท่าหรั่ง ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยกระชังที่เลี้ยงเป็นแบบกระชังลอย ใช้ไม้ไผ่ในพื้นที่จัดทำกันเอง และใช้แกนลอนเป็นทุ่นลอยน้ำ หากในช่วงน้ำหลากจะผูกติดกับต้นยางพาราใกล้แหล่งน้ำและในช่วงหน้าแล้งคลองอู่ตะเภายังสามารถเลี้ยงปลาได้ไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด สำหรับพันธุ์ปลาแต่ละครั้งจะซื้อมาในราคาตัวละ 3- 6 บาท ราคาไม่แน่นอน ปลานิลจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือน จะจับขายกิโลกรัมละ 80 บาท ปลากดเหลือง จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 10 -12 เดือน จะจับขายกิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งแต่ละครั้งสามารถจับขายได้ถึง 200 กิโลกรัม ซึ่งจะขายคนในหมู่บ้าน ชุมชน ตลาดนัด ส่งตามร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในเขตอำเภอหาดใหญ่และร้านอาหารถนนสายสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จะไม่ขายให้แก่พ่อค้าคนกลางเพราะจะโดนกดราคา
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ได้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจ พร้อมหาแนวทางให้ความช่วยเหลือและเรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้คำแนะนำพร้อมผลักดันขยายผลการดำเนินงานของฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อำเภอคลองหอยโข่ง โดยสนับสนุนให้เลี้ยงปลาชะโอนและเพิ่มกระชังเลี้ยงปลากดเหลือง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวลงมาดูแลให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาชะโอน เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป...
จันจิรา บัวน้อย //ข่าว