Chevron Enjoy Science ยกระดับครูสงขลา หวังสร้างเครือข่าย PLC ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา


9 พ.ค. 2562

Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต รวมพลังครูทั่วประเทศ ประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ : วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านคุณครูในจังหวัดสงขลาตื่นตัวร่วมกิจกรรมคึกคัก


วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล, หาดใหญ่ มีการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ : วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการและวิชาการฯ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ผู้บริหารโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต , นายสมชาติ เหลืองสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) จังหวัดสงขลา และแขกผู้มีเกียรติ คุณครู ร่วมให้ข้อมูลในครั้งนี้


ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการอาวุโสด้านโครงการและวิชาการฯ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ผู้บริหารโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เปิดเผยว่า โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต มีจุดเป้าหมาย “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพคน โดยเฉพาะกลุ่ม “ครู” แม่พิมพ์สำคัญ จึงนำกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) ที่สอดรับแนวนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาปรับใช้กับ “ครู” ในจังหวัดสงขลา ซึ่งผลตอบรับก็มีโรงเรียนในจังหวัดสงขลาเข้าร่วมกว่า 70 โรงเรียน จาก 650 โรงเรียนที่ร่วมกิจกรรม


เพราะทางโครงการเชื่อว่าหากสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูในจังหวัดสงขลา” ให้เกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ครูเกิดการรวมตัวเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา และหาทางออกเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียนที่พบเหมือนๆ กันได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มพูนทักษะการสอนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาหนักอกที่ครูบางท่านอาจพบบ่อยแต่ยังหาทางออกไม่ได้ ทั้งช่วยให้เกิดการติดตาม ประเมินผลและแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน เกิดเป็นเครือข่ายครูที่เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ : วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีตัวแทนของเครือข่ายวิชาชีพครูจากทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ว่าสิ่งที่โครงการฯ นำมาใช้ในการร่วมพัฒนาคุณภาพวิชาชีพครูในจังหวัดสงขลา คือ การนำ Best Practice ของกระบวนการการสร้าง PLC รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า School Improvement Network ซึ่งมีต้นสังกัดของโรงเรียนในพื้นที่เป็นแกนหลักขับเคลื่อนการพัฒนาชั้นเรียนและโรงเรียนแบบครบวงจรทั้งระบบร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้นำและพี่เลี้ยงวิชาการในเครือข่าย ซึ่งโมเดลดังกล่าวค้นพบจากการถอดบทเรียนการทำงานตลอด 4 ปีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายสมชาติ เหลืองสะอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในช่วงแรกๆของการเข้าร่วมกระบวนการ PLC ของโครงการฯ ทางคุณครูก็มีการปรับตัว โดยครูและสมาชิกเครือข่าย ก็มีร่วมกันตั้งเป้าหมายในการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน วางแผนบทเรียนและสังเกตชั้นเรียนของกันและกัน ร่วมกันสะท้อนและอภิปรายถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่สังเกตเห็นและวิเคราะห์ภาระงานของนักเรียนด้วยกันเพื่อนำไปปรับปรุงบทเรียนและกระบวนการเรียนการสอน


หลังจากนี้ก็จะมีการวางแผนต่อยอดผนึกกำลังของโรงเรียนเครือข่าย PLC ในพื้นที่ ให้มีความแข็งแกร่งและสร้างผลลัพธ์เชิงบวกในวงกว้าง มีการร่วมกันทำงาน รับรู้ปัญหา กำหนดเป้าหมายและหาทางออกร่วมกันผลักดันในขั้นตอนปฏิบัติให้รวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน

ดร.เกศรา อมรวุฒิวร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” นับเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยมีมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ต้องขอบคุณความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคมและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในครั้งนี้