ประชุมคณะทำงานการสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองอัจฉริยะ


15 พ.ค. 2562

รองผู้ว่าฯ สงขลา ประชุมคณะทำงานการสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนสงขลาสู่ "เมืองอัจฉริยะ" (Smart City)

ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัดและสำนักงานสถิติจังหวัดเข้าร่วม

นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะนำประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมลำน้อย ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ และต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการ โดยหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปทั่วประเทศทั้งกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ และอัจฉริยะมากขึ้น และกลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประกอบด้วย (1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (2) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (3) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) (6) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และ (7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในปีที่ 1 พ.ศ. 2561 พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 10 พื้นที่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ปีที่ 2 (พ.ศ. 2562 – 2563) พัฒนาเมืองอัจฉริยะ 30 พื้นที่ ใน 24 จังหวัด อาทิ เชียงราย พิษณุโลก น่าน อุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กระบี่ พังงา สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล นครศรีธรรมราช และระนอง และปีที่ 3 – 4 (พ.ศ. 2563 – 2565) ขยายเมืองอัจฉริยะผ่านการรับสมัครเมืองอัจฉริยะ และคาดว่าจะครอบคลุมการให้บริการเมืองอัจฉริยะ และระบบ City Data Platform 100 พื้นที่ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการกำหนดเกณฑ์การประเมินเมืองอัจฉริยะและรับสมัครเมืองเพื่อเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และการออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนในเมืองอัจฉริยะผ่านกลไกสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปจนถึงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสู่อาเซียน

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว จิรพัฒน์-ชัยธวัช/ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา