นักลงทุนชาวจีนและไทยลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปทุเรียน ในพื้นที่เทพา ด้านศอ.บต. หนุนเกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน


18 พ.ค. 2562

นักลงทุนชาวจีนร่วมกับผู้ประกอบการชาวไทย จัดตั้งโรงงานแปรรูปทุเรียน ใน อ.เทพา จ.สงขลา ด้าน ศอ.บต. หนุนเกษตรกรในพื้นที่ จชต. ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.00 น. ที่ โรงงานแปรรูปทุเรียน ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมพบปะกับพี่น้องเกษตรกรทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียน ภายใต้ชื่อบริษัท ม่าน กู่ หวาง ฟู๊ด จำกัดซึ่งนายเซียวเย่าเหิง ผู้จัดการใหญ่บริษัท ม่าน กู่ หวาง ฟู๊ด จำกัด นักลงทุนชาวจีนได้ร่วมกับ นายประเสริฐ คณานุรักษ์ผู้บริหารบริษัท ม่าน กู่ หวาง ฟู๊ด จัดตั้งโรงงานดังกล่าวในพื้นที่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อส่งออกทุเรียนแปรรูปไปยังประเทศจีน

ทั้งนี้ บริษัท ม่าน กู่ หวาง ฟู๊ด จำกัด เป็นบริษัท ผลไม้แช่แห้งแบบเยือกแข็ง Freeze dry ของนักลงทุนชาวจีนจากเมืองคุณหมิงที่ชื่นชอบและหลงใหลในรสชาติทุกเรียนจาก3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นโอกาสในการลงทุนเนื่องจาก ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ชื่นชอบของชาวจีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะทุเรียนที่มาจากเมืองไทยซึ่งปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีจำนวนทุเรียนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากจำนวนความต้องการของผู้บริโภคทั้งหมดในประเทศจีนจึงได้วางแผนการลงทุนร่วมกับนักลงทุนชาวไทย โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ใช้เงินลงทุนระยะแรกกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโรงงาน Freeze dryที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศไทยทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะเปิดทำการใน วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 นี้ โดยจะสามารถรองรับผลผลิตทุเรียนได้ปีละ 12 ล้านกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านกิโลกรัม ในปี 2563 ซึ่งสามารถรองรับทุเรียน 1 ใน 3 ของผลผลิตในพื้นที่ ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,200 คน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า โรงงานที่นี่เป็นโรงงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการเกษตรวิถีเชิงเดี่ยวเป็นหลัก วันนี้เป็นการปรับทิศให้ทุกส่วนราชการมาช่วยกัน ปรับวิธีคิดเป็นเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น กาแฟ ไผ่ มะพร้าว ทุเรียน ที่ผ่านมาราคาผลผลิตขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางหรือปริมาณความต้องการในแต่ละเวลาไม่สามารถคำนวณคาดการณ์ได้เลย ดังนั้นการที่มีโรงงานแปรรูปเข้ามาในพื้นที่ครั้งนี้จะตอบโจทย์ได้ในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการเกิดการจ้างงาน รวมทั้งสามารถเก็บทุเรียนได้นานและสามารถระบายเข้าสู่ท้องตลาดได้ตามความต้องการ เชื่อมั่นว่าโรงงานแห่งนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

อย่างไรก็ตามโรงงานแปรรูปทุเรียน ในพื้นที่อำเภอเทพาถือเป็นการตอบโจทย์ ตามนโยบายของ ศอ.บต. ในฐานะศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาในระดับฐานราก เช่น เกษตร การแปรรูป ในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่การค้าการลงทุน ในรูปแบบอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปผสมผสานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงต่อไป