ม.หาดใหญ่ เผย​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ก.ค.62


5 ส.ค. 2562

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2562

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายนโดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต และฐานะการเงิน(รายได้หักรายจ่าย) โดยปัจจัยลบส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในอนาคต และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันเข้าสู่ฤดูมรสุมทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง รายได้ของเกษตรกรลดลงจากสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ที่ราคาตกต่ำมาก เนื่องจากผลผลิตที่ออกพร้อมกันจำนวนมากทั้งภาคใต้ อีกทั้งการส่งออกไปประเทศจีนที่มีปัญหา

ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากได้เห็นโฉมหน้ารัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ โดยประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 นี้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้ได้ เนื่องจากมีรัฐมนตรีที่ดูแลเศรษฐกิจมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่คนใต้ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจมากจำนวน 2 คน ประกอบด้วย 1) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ 2) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบกับเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งนโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม การยกระดับศักยภาพของแรงงาน การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต

โดยประชาชนภาคใต้ได้ฝากความหวังกับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ ให้ช่วยพลิกฟื้นคืนความสุขให้กับประชาชนภาคใต้ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่มีนโยบายสวยหรู แต่เป็นเพียงแค่วาทกรรมและข้อความบนกระดาษ โดยในทางปฏิบัติไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง หรือแก้ปัญหาได้เป็นครั้งคราวแต่ไม่ยั่งยืน ในขณะที่ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้ได้ เพราะมองว่าทีมเศรษฐกิจส่วนหนึ่งยังเป็นคนหน้าเดิม นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ปัญหาก็ยังคงเหมือนเดิม อีกทั้งไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ล่าช้า รวมถึงข้อจำกัดในฐานะการคลังของรัฐบาล

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.20 และ 36.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 32.60 และ 37.80 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 49.10 , 26.80 และ 22.70 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 28.30 รองลงมา คือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง คิดเป็นร้อยละ 21.90 และ 14.70 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง ตามลำดับ