​Hatyai Eat Play Love ม.อ.จัดทำแผนที่วัฒนธรรมนครหาดใหญ่ นำร่อง 4 ชุมชนกลางเมือง


30 พ.ย. 2562

ม.อ.เป็นแม่งานจัดทำแผนที่วัฒนธรรมนครหาดใหญ่ หวังดึงมาเป็นจุดขายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยนำร่อง 4 ชุมชนใจกลางเมืองชูเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม ระดมความคิดเห็นจากผู้แทนชุมชน ท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมพลิกฟื้นการท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ก่อนขยายสู่พื้นที่อื่นๆ


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมผนึกกำลังกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนโครงการ "นครหาดใหญ่บนฐานทุนวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ของชุมชน" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยเล็งเห็นว่าเมืองหาดใหญ่ เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ และเป็นที่รู้จักมาช้านานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าจะสามารถเชื่อโยงร้อยคุณค่าให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ใช้เป็นจุดขายได้

ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ผู้เป็นแม่งานใหญ่ของโครงการนี้ กล่าวว่าที่ผ่านมา ม.อ.มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนในหลายพื้นที่แต่ในเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยมีโครงการที่ม.อ.เป็นแม่งานเองมากนัก เมื่อเราได้รับโจทย์ในการนำวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่า หาดใหญ่ คือเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีอาหารอร่อย มีสถานที่ท่องเที่ยว และมีสิ่งให้หลงรักมากมาย เพียงแต่ยังขาดการรวบรวมและนำเสนอขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

การจัดทำแผนที่วัฒนธรรมนครหาดใหญ่ ได้นำร่องในพื้นที่ 4 ชุมใจกลางเมืองหาดใหญ่ ประกอบด้วย ชุมชนกิมหยงสันติสุข ชุมชนพระเสน่หามนตรี ชุมชนแสงศรี และชุมชนท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง โดยได้เชิญชวนประธานชุมชน ผู้อวุโสในชุมชน เทศบาลนครหาดใหญ่ และภาคส่วนต่างๆ มาร่วมระดมความคิเห็น มาร่วมกันนำเสนอจุดขายของแต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ศักดิสิทธิ์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารขึ้นชื่อ เพื่อนำมารวบรวมสร้างเป็นจุดขายการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Hatyai Eat Play Love กิน เที่ยว ไหว้ ที่หาดใหญ่

โดยภายหลังการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ณ สมาคมฮากกาหาดใหญ่ ทางคณะผู้วิจัยจะมีการรวมรวมข้อมูลพร้อมลงพื้นที่หาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะนำมาให้ทางชุมชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้สิ่งที่ได้เกิดจากความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง และนำมาขยายสู่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำมาสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจเมืองหาดใหญ่อย่างยั่งยืนต่อไป