แนะเกษตรกรพื้นที่ระโนด หันมาปลูกพืชใช้ำนำ้น้อยเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงหน้าแล้งที่คาดว่าจะยาวนานกว่าทุกปี


7 ก.พ. 2563

เกษตรกรอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงภัยแล้ง โดยเน้นพืชต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูกาล


สถานการณ์ในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอกับความต้องการใน ทั้งด้านอุปโภค-บริโภคและเกษตรกรรม ประกอบกับสถานการณ์น้ำในคาบสมุทรสทิงพระไม่เพียงพอ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มเกินกำหนด ไม่สามารถสูบน้ำเข้ามาใช้เพื่อการเกษตร ทำให้พื้นที่อำเภอระโนดซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวนาปี 74,726 ไร่ พืชไร่ 68 ไร่ พืชผัก 1,627 ไร่ ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 5,277 ครัวเรือน

นายวิชัย ศรีสมโภชน์ เกษตรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรบางส่วนปรับตัว โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จากการปลูกข้าวหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น เช่น แคนตาลูป แตงโม ฟักเขียว ฟักทอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชในช่วงหน้าแล้ง โดยเน้นพืชที่มีต้นทุนต่ำ ได้กำไรสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

และในกรณีที่น้ำไม่เพียงพอ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอก็จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาในไร่ละ 1,690 บาท

ด้านนายชาญณรงค์ ปทุมวัลย์ เกษตรกรผู้ปลูกฟักทองในพื้นที่อำเภอระโนด กล่าวว่า ได้ปรับเปลี่ยนจากปลูกข้าวนาปีมาปลูกฟักทองและคาดว่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดทางภาคกลางมารับซื้อถึงที่

เกษตรกรและประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลสถานการณ์ พื้นที่แห้งแล้งได้ที่เว็บไซต์ http://drought.gistda.or.th เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทำการเพาะปลูก หากแปลงเกษตรอยู่ในพื้นที่ภัยแล้งปีนี้ ควรจะเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชทนแล้งแทนได้

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว
ประชา-วิลาศิณี/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา