สงขลาดันปลากระพงสามน้ำ มะม่วงเบา ใยตาลโตนด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)


12 ก.พ. 2563

จังหวัดสงขลา ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประชุมหารือคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อพิจารณาคำขอ ตรวจสอบควบคุมคุณภาพและกำกับดูแลอนุญาตการใช้ตราสัญลักษณ์ GI สงขลา 3 สินค้า ได้แก่ ปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มะม่วงเบาสิงหนคร และใยตาลคาบสมุทรสทิงพระ


วันนี้ (12 ก.พ. 63) ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยนางสาวฉัตรสุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลาและนายปฏิพันธ์ ปานสุนทร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จังหวัดสงขลาเพื่อพิจารณาคำขอ ตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และกำกับดูแลอนุญาตการใช้สัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าศักยภาพจังหวัดสงขลา เพื่อขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำนวน 6 สินค้า ได้แก่ ใยตาลคาบสมุทรสทิงพระ, ปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา, จําปาดะไร้เมล็ดสะบ้าย้อย, ส้มแขกสะบ้าย้อย, ข้าวช่อขิงเทพาและมะม่วงเบาสิงหนคร เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศและระดับสากล

โดยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นการการันตีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับจากหลายพื้นที่ มีจุดเริ่มต้นจากทวีปยุโรปและเข้ามามีบทบาทสำคัญ AEC และสินค้าที่ขอขึ้น GI ได้นั้นจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งผลิต เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อลักษณะพิเศษของสินค้า มีพื้นที่การผลิตที่ชัดเจนและใช้วัตถุดิบหลักจากในพื้นที่ มีคุณภาพหรือลักษณะเฉพาะของสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตจากที่อื่น มีการกำหนดคุณภาพและมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบชัดเจนและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ทั้งนี้จากการประชุมพิจารณาได้มีมติเห็นชอบเสนอสินค้าปลากระพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มะม่วงเบาสิงหนคร และใยตาลคาบสมุทรสทิงพระ เข้าสู่กระบวนการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสงขลา เพื่อให้มีการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ฯ ตามแนวทางที่กำหนด

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว
อรรคพงษ์-วิทยา-วรางคณา
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา