​กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในสถานการณ์ภัยแล้งแนะวิธีดูแลพืชผล


23 เม.ย. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในสถานการณ์ภัยแล้ง ปีนี้เป็นปีแห่งความแห้งแล้งอย่างหนักอีกปีหนึ่ง และแล้งหนักมากสุดในรอบ 40 ปี สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในภาคเกษตร ดังนั้น เกษตรกรต้องปรับตัวหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนพืชที่ใช้น้ำมาก ซึ่งในเรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรก็ได้เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 และไม้ผลที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งเป็นอย่างมาก


นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่าในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีฝนตกทั้งปี 1,342.6 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปีที่แล้งมากคือ ปี 2558 มีฝนตก 1,419.6 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าปี 2562 ฝนตกน้อยกว่า ปี 2558 และจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยานับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ยังพบว่า ปี 2562 มีฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมามีฝนตกทั้งประเทศเพียง 1,114 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 12 ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีน้ำใช้การเหลือน้อยไม่เกินร้อยละ 30 ของความจุอ่าง จำนวน 14 แห่ง เมื่อฝนตกน้อยน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีเหลืออยู่น้อยเช่นกัน จึงไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกตามปกติได้ แม้ระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างก็ตามแต่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย และในปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ขอแจ้งเตือนเกษตรกรให้รับทราบสถานการณ์ และหมั่นดูแลรักษาความชื้นในสวน ลดการคายน้ำของพืช การปรับลดการใช้ปุ๋ยเพื่อลดความเค็มที่เข้าสู่ต้นพืช การสำรองแหล่งน้ำในสวนของตนเอง โดยเฉพาะพืชที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของภาคใต้คือไม้ผล จำนวน 1,018,648 ไร่ (ข้อมูลเอกภาพไม้ผล ครั้งที่ 1 ปี 2563 ข้อมูล ณ 10 มีนาคม 2563 ) และมอบหมายให้จังหวัดทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการดูแลรักษาสวนไม้ผลดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกรม เขต และจังหวัด เพื่อรวบรวมและติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ น้ำ ผลกระทบและความเสียหายด้านการเกษตร รวมถึงจัดทำรายงานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการประเมินสถานการณ์และการจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในปีนี้