"จุรินทร์" ลุยสวนยางที่จะนะ ติดตามโครงการประกันรายได้ช่วยเหลือชาวสวนยางที่จังหวัดสงขลา


26 เม.ย. 2563

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดตามความก้าวหน้าโครงการประกันรายได้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์กับเกษตรกรอย่างรวดเร็ว เป็นรูปธรรมและทั่วถึง


(26 เม.ย. 63) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และคณะ ลงพื้นที่สวนยางพารานายอภิชาติ ใจบุญ หมู่ 6 ตำบลนาหว้า บ้านประจ่าใต้ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้ยางพารา และรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากตัวแทนชาวสวนยางพารา โดยมีกลุ่มตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพารา อำเภอจะนะ ร่วมให้การต้อนรับ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ที่ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รวมถึงชาวสวนยาง และชาวสวนปาล์ม เป็น 1 ใน12 นโยบายที่ได้ชี้แจงต่อรัฐสภา โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ผลผลิตเกษตร 5 ชนิดคือปาล์ม ข้าว ยาง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ซึ่งการประกันรายได้จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร ไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำ และทำให้กลไกของตลาดทำงานได้ปรกติ ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันทางการค้าได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากราคาพืชผลที่ขายได้จริง และจากรายได้ส่วนต่างที่รัฐจ่ายชดเชยให้

สำหรับการกำหนดราคาประกันรายได้จากการขายยางพารา 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยหลักเกณฑ์รับประกันคือ ต้องเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลปลูกยางกับ กยท. มีต้นยางอายุ 7 ปีขึ้นไปเปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมกำหนดปริมาณผลผลิตยางประกันรายได้ที่ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

นอกจากนี้ได้ติดตามความคืบหน้าของการจ่ายส่วนต่างของรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกในที่ดินของรัฐ (บัตรสีชมพู) ที่ยังไม่ได้รับส่วนต่างของการประกันรายได้ โดยจังหวัดสงขลามีเกษตรกรผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง รอบที่ 1 จำนวน 25,480 ราย ผ่านการรับรองสิทธิ์ จำนวน 18,635 ราย ดำเนินการสั่งจ่ายแล้ว 14,179 ราย และยังไม่ได้สั่งจ่าย จำนวน 4,456 ราย พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างจริงจัง เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย เพื่อให้มีเกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์สูงสุด

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด/ข่าว ประชา-วิทยา/ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา