ระวังมิจฉาชีพลวงข้อมูลส่วนบุคคล อ้างมาตรการเยียวยาโควิด 19 (บทความการเงิน)


30 พ.ค. 2563

ระวังมิจฉาชีพลวงข้อมูลส่วนบุคคล อ้างมาตรการเยียวยาโควิด 19

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างนั้น หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีคนบางกลุ่มที่ถือโอกาสนี้หลอกลวงประชาชนโดยการแอบอ้างมาตรการดังกล่าวและลวงถามข้อมูลส่วนบุคคล บทความนี้จึงขอชวนท่านผู้อ่านมารู้ทันกลลวงเหล่านี้ พร้อมแนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก่มิจฉาชีพ


หลอกถามทางไลน์ อ้างโครงการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาท พฤติกรรมของมิจฉาชีพเหล่านี้คือจะทักไลน์ไปหาเหยื่อเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ เลขประจำตัวประชาชน เลขบัตรเอทีเอ็ม เพื่อนำไปดำเนินการในทางมิชอบ โดยแอบอ้างโครงการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งแท้จริงแล้วมาตรการนี้ไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือสอบถามผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทาง LINE และผู้เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com หรือกรณีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะดำเนินการผ่านเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ทั้งนี้ ต้องพิมพ์ชื่อเว็บไซต์ให้ถูกต้องเนื่องจากมีผู้ที่ไม่หวังดีสร้างเว็บไซต์ปลอมในชื่อคล้ายกันเพื่อลวงเอาข้อมูล นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจแอบอ้างโครงการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ท่านจึงควรสอบถามกับสถาบันการเงินที่ท่านใช้บริการโดยตรง

หลอกว่าจะช่วยกดเงินให้ เมื่อคุณได้รับแจ้งจากทางภาครัฐว่าได้โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีแล้ว อาจมีคนใกล้ตัวทำทีว่าจะช่วยกดเงินจากตู้เอทีเอ็มให้ เมื่อวางใจให้บัตรเอทีเอ็มและรหัสผ่านไป สุดท้ายได้เงินกลับมาไม่ครบ โดยเขาอ้างว่าหน่วยงานรัฐได้โอนมาเพียงบางส่วน หรือหากโชคร้ายอาจไม่ได้เงินใดๆคืนมาเลย คุณต้องตระหนักว่าไม่ควรเปิดเผยรหัสบัตรเอทีเอ็ม และรหัสผ่านต่างๆให้คนอื่นทราบโดยเด็ดขาด เพราะบางคนคุณรู้จักหน้าแต่อาจไม่รู้จักใจ

โพสต์รูปบิลค่าไฟ ระวังมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาหลายคนได้โพสต์รูปบิลค่าไฟฟ้าใน Facebook เนื่องจากมีหน่วยการใช้เพิ่มขึ้น โดยลืมไปว่าบนบิลค่าไฟฟ้านั้นมีข้อมูลชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า ที่อยู่ และหมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งอาจมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางมิชอบ อย่างไรก็ดี หากท่านสงสัยกรณีค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างผิดปกติสามารถแจ้งเรื่องไปที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบ หรือติดต่อผ่านสายด่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร.1129


ภัยทางการเงินส่วนหนึ่งเกิดจากมิจฉาชีพเข้ามาลวงให้หลงเชื่อ แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากความประมาทของเราเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้สามารถป้องกันได้โดย “ตั้งสติ” ก่อนจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ติดตาม” ข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และ “สอบถาม” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ผู้เขียน สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874629

https://news.thaipbs.or.th/content/291514