เกษตรเขต5 เร่งสร้างการรับรู้แนวทางการบริหารจัดการพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4


4 มิ.ย. 2563

เกษตรเขต 5 เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แนวทางการบริหารจัดการพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4)

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองโดยกำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ส่งออก ครอบครองฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ใบทะเบียน ใบอนุญาตผลิต และใบอนุญาตครอบครอง ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะสิ้นสุดทันที นั้น


นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ มีข้อมูลเกษตรกรที่เคยอบรมและผ่านการทดสอบความรู้การใช้สารเคมีกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 62,927 ราย ซึ่งมีโอกาสที่เกษตรกรกลุ่มนี้จะมีสารเคมีดังกล่าวไว้ในการครอบครองสูง ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แนวทางการบริหารจัดการพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เมื่อประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) โดยขอให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ลงพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกษตรกรผู้ที่มีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ไว้ในครอบครองจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้


1. ให้เกษตรกรส่งมอบคืนวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) ให้ร้านค้าที่ซื้อมาภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 หรือไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563
2. ร้านค้าส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณที่ครอบครองทั้งที่รับคืนจากเกษตรกรและที่ร้านค้าครอบครองอยู่ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ที่รับผิดชอบภายใน 120 วัน
หรือไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563
3. ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแจ้งปริมาณที่ตนครอบครองและที่รับคืนมาทั้งหมดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ภายใน 270 วัน หรือไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พร้อมกำหนดแผนวัน วิธี และสถานที่ในการทำลายให้พนักงานทราบ

ทั้งนี้ ในเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเลิกใช้สารเคมี ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา แนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การปลูกพืชคลุมดิน การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช รวมทั้งการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ และนอกจากนี้สามารถศึกษาข้อมูลวิชาการในการใช้สารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรในการควบคุมศัตรูพืชหลากหลายวิธี เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีลง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีความปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิต รวมถึงผู้บริโภค ส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น