​เปิดเวทีดึงภาคธุรกิจร่วมรับฟังแนวทางขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษจะนะ ด้านกลุ่มต้านร่วมแสดงพลังด้วย


8 มิ.ย. 2563

ห่วงเศรษฐกิจภาคใต้ชายแดนตกตำหนักขึ้นหลังวิกฤติโควิต -19 ธปท. ชี้แรงงานเสี่ยงตกงานกว่า 1.7 ล้านคนเครื่องยนต์เศรษฐกิจฉุดไม่ติดทุกตัวหวังอุตสาหกรรมแห่งอนาคตช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอนุภูมิภาคได้

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2563 ณ โรงแรมบุรีศรีภูบูติกโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการเปิดเวทีเชิญชวนนักธุรกิจร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสงขลา ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ“ กระบวนการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในพื้นที่การขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ และอีกหลายภาคส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจและการลงทุนที่น่าสนใจ

โดยนายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ นำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภาคใต้ และเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ว่าทั้ง 3 ส่วนล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า -2019 (โควิด -19) พบว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ 5 ตัวหลักในภาพรวมหดตัวสูงขึ้น / หดตัวต่อเนื่องส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อติดลบและจำนวนการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ที่น่าห่วงคือโครงสร้างเศรษฐกิจภาคใต้กว่าร้อยละ 60 ยังคงพึ่งพาภาคการเกษตรท่องเที่ยวการค้าและการผลิตเป็นหลัก

เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดล้วนหดตัวมากขึ้นในขณะที่รายจ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวสวนทางกับประเทศ และคาดการณ์กันว่าจะมีกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างกว่า 1.7 ล้านคน ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูต่อจากการเยียวยาไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจแรงงานภูมิคุ้มกันให้ภาครัวเรือนและ SMEs ที่เปราะบาง แต่ที่สำคัญที่สุดต้องรับมือความท้าทายของโลกหลังโควิต -19 ที่จะก่อให้เกิดธุรกิจ Sector ใหม่และการโยกย้ายคนและทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ด้านนายคณิต แสงสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการประชุมทางไกลผ่านสัญญาณโทรทัศน์ (Video Television Conference: VTC) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยขณะนี้ได้มีความก้าวหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการลงทุน และการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกต่างๆในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดระบบการสะสมเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม


ขณะที่ ศอ.บต. หน่วยงานรับผิดชอบด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการนำเสนอที่มาและความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จากการมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ (Growth Engine) ตามที่รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาโดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่อำเภอจะนะ เพื่อเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น

เป็นการบังคับใช้มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมกันกำหนดและเชื่อมโยงมิติการพัฒนาไปพร้อมกัน เน้นการจัดทำโครงการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนไปพร้อมกับแผนพัฒนาของเอกชน ซึ่งผู้บริหารของภาคเอกชนที่ประสงค์จะเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่ร่วมกับรัฐและประชาชน เพื่อยกระดับเมืองจะนะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งครบวงจร ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมฐานชีวภาพอุ ตสาหกรรมเกษตร อาหารปลอดภัย และอุตสาหกรรมขนส่งทางราง เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ไปพร้อมกันอย่างสร้างสรรค์และเน้นย้ำธุรกิจสีเขียว-สีน้ำเงิน ไม่มีปิโตรเคมีในแผนการพัฒนาแน่นอนตามที่ผู้บริหารระดับสูงสุด ได้มีเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนให้เติบโตไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนเริ่มการประชุม กลุ่มผู้คัดค้านโครรงการได้มีการรวมตัวที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมม เพื่อออกแถลงการณ์เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เรื่องให้ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตจะนะ เพราะเป็นโครงการที่ถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการเท็จตั้งแต่ต้น และกำลังกลายเป็นโครงการที่สร้างความขัดแย้งในชุมชนที่อาจจะหนักขึ้นในอนาคต

พร้อมย้ำว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง ศอ.บต. จึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินการดังกล่าวอย่างมีมาตรฐานมากว่าที่เป็นอยู่ ให้มีความเป็นธรรมาภิบาลที่ไม่ใช่แค่คิดจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะต้องแบกรับผลกระทบทั้งหมดคือชุมชนในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลของอำเภอจะน ะและคนทั้งจังหวัดสงขลา จึงขอเรียกร้องให้ ศอ. บต. ยกเลิกโครงการนี้ในทันที