กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนสร้างอัตลักษณ์ผลไม้เพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรแต่ละท้องถิ่น


12 มิ.ย. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมรวมกลุ่มแปลงใหญ่และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น


นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) เปิดเผยว่า ผลไม้นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกผลไม้ จำนวน 45,613 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.22 ปัจจุบันเกษตรกรมีการปลูกไม้ผล 57 ชนิด พื้นที่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ผลผลิตปีละประมาณ 10.81 ล้านตัน และสืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งตรงกับฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) และภาคเหนือ (ลิ้นจี่) หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อการบริหารจัดการผลไม้นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการ Fruit board ได้ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนกำกับติดตามสถานการณ์การผลิต – การตลาดตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา เพื่อช่วยกระจายผลผลิตและระบายสินค้าในหลายช่องทางทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ภาคใต้ปีนี้ผลไม้คาดว่าจะมีผลผลิตตามฤดูกาล ดังนี้ ทุเรียน 554,486 ตัน มังคุด 144,537 ตัน เงาะ 49,993 ตัน ลองกอง 49,988 ตัน สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่น ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากเล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ จำปาดะ ละมุด ล้วนแล้วแต่เป็นผลไม้ประจำท้องถิ่นหรือที่เรียกกันว่า “อัตลักษณ์ผลไม้” มีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่ จึงทำให้เหมาะสมที่จะส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่ 4.0

จึงขอประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับทราบคุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้อัตลักษณ์ เช่น ทุเรียนสาลิกา ของดีเมืองพังงา มีรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ทุเรียนสาลิกาพังงา มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ประมาณ 320 ไร่ เป็นทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์แท้ดั้งเดิม ลักษณะผลกลมสวย ผลโตมีน้ำหนักประมาณ 1.5 – 2 กิโลกรัมต่อผล เปลือกบาง เนื้อสุกเป็นสีเหลืองเข้ม แกนกลางมีสีสนิม เมล็ดเล็กและลีบ รสชาติหวานแหลม เนื้อละเอียด ไม่เละ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ทุเรียนในวง ทุเรียนสะเด็ดน้ำ มังคุดลานสกา ลองกองตันหยงมัส สละ และจำปาดะ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ