อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มช่องทาง และเชื่อมโยงการจำหน่ายปลากะพง


19 มิ.ย. 2563

อธิบดีกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มช่องทาง และเชื่อมโยงการจำหน่ายปลากะพง


(19 มิ.ย. 63) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานการประชุมหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพง จังหวัดสงขลา ปี 2563 เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง และผู้ประกอบการรับซื้อปลากะพง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลากะพงในพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 อำเภอ ประกอบด้วย 1.อำเภอเมือง 2.อำเภอสิงหนคร 3.อำเภอบางกล่ำ 4.อำเภอควนเนียง 5.อำเภอจะนะ 6.อำเภอเทพา และ 7.อำเภอสะบ้าย้อย ประสบปัญหาจากต้นทุนการผลิต และการนำปลาจากนอกพื้นที่เข้ามาจำหน่าย ทำให้เกษตรกรจำหน่ายไม่ได้ราคา จึงต้องเร่งประสานความช่วยเหลือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในส่วนของจังหวัดสงขลา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง กว่า 700 ราย และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฏาคม รวมจำนวนกว่า 500 ตัน

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงาน
โครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพง จังหวัดสงขลา ปี 2563 โดยทางกรมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินจ่ายขาดจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 26,780,000 บาท เพื่อนำไปดำเนินการระบายปลากะพงส่วนเกิน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง จังหวัดสงขลา ตามโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพง จังหวัดสงขลา ปื 2563 ปริมาณเป้าหมาย 650 ตัน ในอัตรากิโลกรัมละ 130 บาท หรือ ตันละ 130,000 บาท และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยวงเงิน 26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป็นค่าชดเชยส่วนต่าง และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ อาทิ ค่าจัดการแปรสภาพ ค่าจัดการด้านคุณภาพค่าเก็บรักษา คำบรรจุภัณฑ์ค่าขนส่ง ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 40 บาท ขณะที่วงเงิน 780,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานดำเนินการตามโครงการฯ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

กรมการค้าภายใน จึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการปฏิบัติทั้งส่วนกลาง และจังหวัดสงขลา โดยในส่วนของการบริหารจัดการกระจายปลากะพงจังหวัดสงขลา ให้ดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

1.แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้ที่ กำกับ และตรวจสอบ พร้อมทั้งลงนามรับรอง ปริมาณ คุณภาพ ขนาดน้ำหนักของปลากะพงที่รวบรวม และจัดส่งตามคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการที่รับซื้อตามโครงการฯ แต่ละราย และทุกครั้งที่มีการรวบรวมจัดส่ง ในแต่ละจุดรวบรวม โดยคุณภาพ ขนาด และน้ำหนักในการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

2.จัดสรรคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการที่รับซื้อตามโครงการฯ ให้สอดคล้องกับปริมาณการผลิต และการสั่งซื้อ

3.จัดทำข้อมูลเกษตรกรผู้ขาย และผู้ประกอบการรับซื้อปลากะพงตามโครงการฯ และรวบรวมเอกสารหลักฐาน ตามที่กรมการค้าภายในกำหนด พร้อมลงนามรับรอง เพื่อเป็นหลักฐาน และยืนยันความถูกต้อง สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และจัดส่งให้กรมการค้าภายใน

4.จัดทำป้ายชื่อ จุดรวบรวมปลากะพง "ตามโครงการเชื่อมโยงการระบายจำหน่ายปลากะพง จังหวัดสงขลา ปี 2563" โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

5.กำกับ ดูแล และติดตามให้จุดรวบรวมของแต่ละกลุ่มเกษตรกร ต้องรวบรวมปลากะพงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากพงที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้พาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามที่กรมประมงกำหนด เพื่อนำมาจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการที่รับซื้อตามโครงการฯ

6.ประสาน ติดตามการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้รับซื้อปลายทาง (ถ้ามี) เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในขณะนี้

ภาพ/ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม สวท.สงขลา