​ธปท.แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ชี้เริ่มเห็นแสงสว่างหลังโควิด-19 คลี่คลาย


4 ส.ค. 2563

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2563 และแนวโน้ม ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในทางติดลบ แต่เริ่มเห็นแสงสว่างหลังโควิด-19 คลี่คลาย และการใช้จ่ายเงินของภาครัฐมีส่วนช่วยสสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

(4 ส.ค. 63) ที่สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2563 และแนวโน้ม โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมิถุนายน 2563 ยังคงหดตัว แต่ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย จากปัจจัยการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มปรับดีขึ้น รวมทั้งรายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลงช่วยสนับสนุนอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัวในหลายหมวดการใช้จ่าย นอกจากนี้ การผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวเกือบทุกอุตสาหกรรมหลัก จากผลดีของการเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ด้านการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูง เนื่องจากยังคงมีมาตรการจำกัดเส้นทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่กลับเข้าสู่อัตราปกติ ขณะที่ราคาอาหารสดยังคงลดลง ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังมีอยู่มาก สำหรับภาคการเงินเดือนพฤษภาคม 2563 เงินฝากขยายตัวจากเงินเยียวยาภาครัฐ ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวจากสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายภาคบริการของนักท่องเที่ยวชาวไทย และหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันปรับดีขึ้นบ้าง ผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ประกอบกับประชาชน เริ่มมีความเชื่อมั่นในการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ ปรับดีขึ้นเล็กน้อยเข้ามามีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ด้านการใช้จ่ายสินค้าคงทนหมวดยานยนต์และกึ่งคงทน แม้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงเผชิญกับปัจจัยกดดันด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ

ผลผลิตภาคเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ปลูกใหม่ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตกุ้งขาวเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่างในปีก่อนที่เกษตรกรลงลูกกุ้งน้อย เนื่องจากราคาไม่จูงใจ ขณะที่ผลผลิตยางพาราขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย ด้านราคาสินค้าเกษตรหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะราคายางพาราที่ยังคงหดตัวสูงจากอุปสงค์โลกที่ลดลง ประกอบกับราคาปาล์มน้ำมันกลับมาหดตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคากุ้งขาวขยายตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ยังคงลดลงจากปีก่อน ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ปรับดีขึ้นหลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง

ทั้งนี้ จากผลผลิตเกษตรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาจะยังคงหดตัว ทำให้รายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ผลจากมาตรการจำกัดเส้นทางเข้าออก ระหว่างประเทศทุกช่องทางเพื่อป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

มูลค่าการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองประกอบกับความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่อาจกลับมาระบาดรอบสอง ทำให้ความต้องการสินค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะการผลิต และส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยางที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตและส่งออกยางผสมไปตลาดจนน้ำยางข้นไปตลาดมาเลเซีย รวมถึงไฟเบอร์บอร์ดไปตลาดตะวันออกกลางยังขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม การผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งยังคงหดตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน ผลจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักร และภาคก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบ และถุงมือยาง สอดคล้องกับภาพการผลิตในอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ใช้ในงานก่อสร้างปรับดีขึ้น ด้านการลงทุนในภาคก่อสร้างปรับดีขึ้นตามยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ตาม พื้นที่อนุญาตก่อสร้างยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะพื้นที่อนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพยท์ชะลอตัว ผลจากการเร่งขออนุญาตก่อสร้างไปแล้วในช่วงก่อนหน้าเป็นสำคัญ

การใช้จ่ายภาครัฐ กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการเบิกจ่ายใน หมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานด้านการศึกษา และสถาบันการศึกษาภาครัฐ ด้านรายจ่ายลงทุนกลับมาขยายตัว ตามการเบิกจ่ายในหมวดที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และหมวดครุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมยังต่ำกว่าปีงบประมาณก่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ 2.26 ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่กลับเข้าสู่อัตราปกติหลังจากสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดยังคงปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดเป็ด ไก่ ไข่ สัตว์น้ำ และหมวดผักและผลไม้ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบางสะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังมีอยู่มาก

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2563 เงินฝากคงค้างของสถาบันการเงินขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากทั้งเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการโอนเงินช่วยเหลือในโครงการเราไม่ทิ้งกัน และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเงินให้สินเชื่อสำหรับเสริมสภาพคล่องของธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นสำคัญ