"ถาวร เสนเนียม" ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง


13 ก.ย. 2563

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง

(วันที่ 11 กันยายน 2563 ) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมกำกับติดตามการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง โดยมีนายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอบต. นายชัยสิทธ์ิ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ดร. จรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ฝ่ายมาตรฐานสนามบิน) ผู้แทนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ท่าอากาศยานเบตง

การประชุมในครั้งนี้ได้รับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานความคืบหน้าการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.) อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเบตง กรมท่าอากาศยานและ งานก่อสร้าง ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินรดำเนินการแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์

2.งานก่อสร้างอาคารหอบังคับการบิน และอาคารเครื่องช่วยการเดินอากาศ VOR/DME ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100 %

3.) การประกาศกำหนดสนามบินเบตงเป็นสนามบินอนุญาต ขณะนี้ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดสนามบินอนุญาต (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2562 ให้สนามบินเบตงเป็นสนามบินอนุญาต ลงนามโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ท่าอากาศยานเบตง มีสถานะเป็นสนามบินตามกฏหมายต่อไป

4. ความร่วมมือสายการบินต่างๆ อาทิ สายการบินนกแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อร่วมหาแนวทางในการศึกษาเส้นทางในการเปิดเส้นทางบินมายังท่าอากาศยานเบตง

ท่าอากาศยานเบตง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ ต.ยะรม อ. เบตง จ. ยะลา ห่างจากตัวเมืองเบตง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร มีอาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 7,000 ตารางเมตร ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 0.864 ล้านคน/ ปีอาคารจอดรถยนต์รองรับได้สูงสุด 140 คัน และทางวิ่ง (Runway) ขนาด 30x1,800 เมตร ลานจอดอากาศยานมีพื้นประมาณ 18,540 ตารางเมตร สามารถรองรับอากาศยานในชั่วโมงเร่งด่วน เครื่องบินพานิชย์ แบบ ATR 72 50 -70 ที่นั่ง หรือเครื่องบินพาณิชแบบ Q 400 ขนาด 86 ที่นั่ง พร้อมกัน 3 ลำในเวลาเดียวกัน

ซึ่งจะทำให้การคมนาคมขนส่งภายในจังหวัดยะลา และการเชื่อมต่อสู่ประเทศมาเลเซีย ที่ด่านเบตง และพื้นที่ใกล้เคียงจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นจากปีละ 600,000 คน เป็น 1,000,000 คนต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี

ในการนี้ รมช.คมนาคม ได้กล่าวกำชับ ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือบูรณาการทุกมิติ การเชื่อมเส้นการคมนาคมทางถนน ระหว่างจังหวัดสู่ท่าอากาศยาน การส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐ ตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “ ไทยเที่ยวบิน” และมาตรการช่วยเหลือสายการบิน โดยการลดค่าธรรมเนียมการให้บริการขึ้นลงอากาศยาน การลดค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน เพื่อช่วยเหลือสายการบินลดค่าใช้จ่าย เพื่อแสดงถึงความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการและนักท่องเที่ยวในการเปิดให้บริการใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานเบตง พร้อมให้บริการเส้นทางบินในเส้นทางต่างๆ ให้เร็วที่สุด