​"โค่นทั้งน้ำตา" ยางพาราพันธุ์ 600ยอดดำ ปลูก 9 ปีต้นสวยโตไวแต่ไม่มีน้ำยาง


17 มี.ค. 2564

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ที่ขยายพื้นปลูกไปทั่วประเทศแล้ว ย้อนกลับเมื่อปี 2555 ราคายางพาราพุ่งสูงถึงกิโกลกรัมละ 100 กว่าบาท ทำให้เกษตรกรให้ความสนใจปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากทั้งแบบขอทุนจากกยท.และปลูกด้วยตัวเอง 2-3 ปีที่ผ่านถึงวันนี้ยางพารารุ่นดังกล่าวได้รับการเปิดกรีดแล้ว แต่มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยต้องช้ำใจเพราะได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าการลงทุน


เกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง (กยท.) ได้มีการลงพื้นที่หมู่ที่ 10 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีนายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนล่าง ดร.กฤษดา สังสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะ ได้จัดเวทีให้ความรู้การคัดเลือกพันธุ์ยางแก่ชาวบ้าน และลงพื้นที่ตรวจสวนยางพาราของนายสุชาติ สุทธิ์หนู เกษตรกรที่ปลูกยางพาราพันธ์ 600ยอดดำเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ซึ่งมีลำต้นสวยงาม โตเร็ว แต่เมื่อเปิดกรีดแล้วกลับให้ผลผลิตน้อยมากไม่คุ้มค่าการลงทุน จนทำให้เจ้าของสวนต้องตัดสินยอมโค่นยางทิ้งเพื่อปลูกใหม่ พร้อมฝากเตือนเพื่อนเกษตรกรคิดจะปลูกยางต้องรอบคอบเลือกสายพันธ์ที่กยท.รับรองเท่านั้น

นายสุชาติ สุทธิ์หนู หรือพี่ชาติ เล่าย้อนให้ฟังว่าเมื่อปี 55 ยางราคาดีมากกิโลละ 100 กว่าบาท ตนเองมีที่ดินว่างอยู่เลยรีบตัดสินใจปลูกยางทันทีโดยไม่ได้ขอการสงเคราะห์จากกยท. ตอนนั้นพ่อค้าขายพันธุ์ยางบอกว่าคือยางพันธ์ 600ยอดดำ โตเร็ว ต้นสวย ให้ผลผลิตมากกว่าเป็นเท่าตัว ตนเองก็หลงเชื่อซื้อพันธุ์ยางมาปลูกบนที่ดิน 7 ไร่ครึ่งผืนนี้ ดูแลเป็นอย่างดีต้นยางโตเร็วเหมือนที่เขาบอกเราก็นับถอยหลังรอวันเปิดกรีด แต่ปรากฎว่าเมื่อเปิดกรีดแล้วไม่มีน้ำยางอย่างที่เขาโอ้อวด กรีดมาระยะหนึ่งแล้วได้น้ำยางสดวันละ 30-40 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากยางทั่วไปในพื้นที่ปลูกเท่ากันจะได้วันละ 70-100 กิโลกรัม

"ยอมรับว่าเราโลภตอนนั้นยางราคาดี อยากปลูกอยากกรีดเร็วๆ เลยไม่ได้ศึกษาข้อมูลอะไร วันนี้เราพลาดไม่แล้วไม่อยากให้คนอื่นพลาดเหมือนเรา ขอฝากถึงท่านที่จะปลูกยางทุกคนว่าต้องเลือกสายพันธุ์ที่ผ่านการรับรอง ซื้อต้นกล้าจากผู้ผลิตที่มีใบอนุญาตเท่านั้น การปลูกยาง 1 รุ่นใช้เวลา 6-7 ปีกว่าจะได้กรีด หากได้ยางพันธ์ไม่ดีก็ต้องเสียเวลาอย่างน้อย 14 ปี ซึ่งเรียกว่าเสียค่าโง่ได้เลย" พี่สุชาติ กล่าวถึงบทสรุปของสวนยางแปลงนี้แบบเซ็งๆ

จากข้อมูลของกยท. ทราบว่ามีอีกหลายสวนที่ปลูกยางสายพันธุ์นี้ บางสวนก็โค่นทิ้งไปแล้วโดยไม่บอกใครเพราะกลัวเสียหน้า บางสวนทายาเร่งน้ำยางเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกสักระยะก่อนโค่นทิ้ง และทราบว่ายังมีอีกหลายสวนที่ปลูกยางสายพันธุ์นี้และยังไม่ได้เปิดกรีด ในช่วงที่ยางราคาดีผู้คนจะซื้อยางมาปลูกโดยไม่ได้สนใจข้อมูลพันธุ์ยาง ซื้อจากแปลงไม่ได้มาตรฐานบ้าง พ่อค้าเร่บ้าง ทำให้วันนี้มีต้นยางพันธุ์ที่ไม่มีการรับรองอยู่ในสวนจำนวนมาก

นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนล่าง ที่ทำงานใกล้ชิดชาวสวนยางมาโดยตลอดและยังเป็นเกษตรกรชาวสวนยางด้วย กล่าวว่ายางพาราในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีหลายพันธุ์ ซึ่งการควบคุมตรวจสอบทำได้ค่อนข้างยาก กยท.มีความห่วงใยพี่น้องชาวสวนยางได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในการคัดเลือกพันธุ์ยางอยากแนะนำให้ข้อมูสายพันธุ์จากเว็บไซต์กยท. ดูใบรับรองจากสายพันธุ์จากแปลงยาง และอยากให้ทุกท่านเข้ามาที่กยท.ใกล้บ้านเพื่อขอคำปรึกษา เพราะเรามีการส่งเสริมทั้งการปลูกยาง ผลไม้ พืชร่วมยาง ไม้เศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากราคายางพาราที่ผันผวนได้อีกด้วย

ด้าน ดร.กฤษดา สังสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงยางพันธุ์ 600ยอดดำ ว่าไม่มีอยู่ในสายพันธุ์ของกยท. ผู้จำหน่ายน่าจะอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหวังขายต้นยางโดยอ้างอิงจากพันธุ์600 ซึ่งชาวบ้านรู้จักกันเป็อย่างดี สำหรับยางที่รับรองสายพันธุ์จากสถาบันวิจัยยาง อาทิ RRIM600 ,RRIT251 ,RRIT3802 ,RRIT3904 และอีกหลายพันธุ์ โดยเกษตรกรที่ปลูกยางใหม่ขอให้เลือกซื้อยางจากแปลงผลิตที่มีใบอนุญาตขยายพันธุ์ยางเพื่อการค้าเท่านั้น เพื่อไม่ให้ถูกหลอก เสียเงิน เสียเวลา และเสียโอกาสทางรายได้ที่ควรได้รับจากรอคอยมานานกว่า 7 ปี

ในช่วงกลางปีที่กำลังมาถึงพร้อมการเริ่นต้นของฤดูฝน เกษตรกรจำนวนมากเริ่มเตรียมพื้นที่ปลูกยางพารา ขอแนะนำว่าให้ท่านศึกษาข้อมูลให้ดี และที่สำคัญคือควรเข้าไปปรึกษากับเจ้าหน้า กยท.ใกล้บ้าน เพื่อความมั่นใจและไม่เสียเวลาปลูกยางแล้วต้องโค่นทิ้งเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้ว


ต้อม รัตภูมิ 0897384215 รายงาน