จัดหางานสงขลา เดินหน้าเสริมสร้างการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงโควิด-19 ให้กับนายจ้าง


18 มี.ค. 2564

จัดหางานจังหวัดสงขลา เดินหน้าเสริมสร้างการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงโควิด-19 ให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ และภาคีเครือข่าย เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา


(18 มี.ค. 64) ที่โรงแรมทีอาร์ ร็อคฮิลล์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นางชวนชม บัวอนนท์ จัดหางานจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และองค์กรภาคีเครือข่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีหัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการมีงานทำ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน นายจ้าง สถานประกอบการ ผู้แทนนายจ้างองค์กรเอกชน (NGO) ในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง นางชวนชม บัวอนนท์ จัดหางานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ซึ่งได้ขยายขอบเขตการแพร่ระบาดออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ภารกิจด้านสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญ และมีนโยบายในการจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งสามารถทำให้คนต่างด้าวทั้งที่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง และแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง สามารถดำเนินการตามแนวทางขั้นตอนที่กำหนดไว้ให้ถูกต้อง อีกทั้งสามารถทำงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นผลดีต่อนายจ้าง สถานประกอบการ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น นายจ้าง และแรงงานต่างด้าวจะต้องปฏิบัติตามกฏหมาย ระเบียบข้อปฏิบัติ และแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การจัดประชุมเพื่อชี้แจง และให้ความรู้แก่นายจ้างสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวในวันนี้ จึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้ ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานแต่งด้าวให้ถูกต้องตามกฏหมาย และแนวทางการปฎิบัติที่ได้กำหนดไว้ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ด้าน นางสุภาวดี พานิชย์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการมีงานทำ ในนามของผู้จัดการประชุม กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สืบเนื่องจากในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งได้มีการทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ดังนี้

1.ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

2.ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 โดยให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

3.ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษออกไปอีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่การอนุญาตสิ้นสุด

4.สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ที่มีวาระการจ้างงานครบ 2 ปี ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษออกไปอีก 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่การอนุญาตสิ้นสุด

5.ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งอยู่ระหว่างการลงทะเบียน และตรวจโรคโควิด-19 รวมถึงการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และให้ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564

6.การบริหารจัดการผู้ต้องกัก เพื่อให้ผู้ต้องกัก 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่รอการส่งกลับสามารถเข้าสู่กระบวนการจ้างงานตามมติคณะรัฐมนตรีได้

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดสงขลา มีนายจ้าง สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฏหมาย จำนวน 4,179 ราย แรงงานต่างด้าว จำนวน 39,225 คน แยกเป็นแรงงานฝีมือ/ชำนาญการ จำนวน 1,695 คน , แรงงานไร้ฝีมือ จำนวน 37,530 คน , แรงงานต่างด้าว MOU จำนวน 7,801 คน , แรงงานต่างด้าว MOU (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 สิงหาคม 2562) จำนวน 21,699 คน , ชนกลุ่มน้อย จำนวน 247 คน แรงงานต่างด้าวกลุ่มผ่อนผันตามมาตรา 63/2 (บต.23) จำนวน 2,594 คน และแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 5,189 คน

กิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การเสวนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 โดยวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา และศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 9 สงขลา และการบรรยายเรื่อง “การปฏิบัติตาม พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561” โดยวิทยากรจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลา

.

สุธิดา พฤกษ์อุดม / สวท.สงขลา รายงาน 18 มี.ค. 64