​กระทรวงพาณิชย์ เดินสายชี้แจงโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าปี 2


27 มี.ค. 2564

กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดเวทีชี้แจงโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าปี 2 ที่หาดใหญ่ เน้นสร้างความมั่นคงยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร พร้อมวางแผนระยะยาวรักษาระดับราคาสินค้าเกษตรให้มั่นคง


(27 มี.ค.64) ณ โรงแรมบุรีศรีภูบูติคโฮเต็ล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดเวทีชี้แจงโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้าปี 2 โดยมีนายวิชัย โภชนกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีและนำเสวนาร่วมกับนางสาวพัชรี พยัควงษ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสัมฤทธิ์ เทวะภูมิ ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร นายประสาน พูลเวช ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และนายพิสิษฐ สุขอนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้แทนเกษตรกรอาชีพต่างๆ ประมาณ 400 คน ร่วมรับฟังการชี้แจง

นายวิชัย โภชนกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแผนการดูแลราคาสินค้าเกษตรในปี 2564 ว่า กรมการค้าภายในยังคงเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาล ในการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ได้ดำเนินมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ของพืชแต่ละชนิด เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาด้วย เช่น การรับฝากเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อให้เกษตรกรชะลอการจำหน่ายในช่วงราคาลดลง การบริหารการนำเข้า และมาตรการดูแลตรวจสอบติดตามปริมาณสต๊อก โดยเลือกใช้มตรการที่เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด

สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาในปี 2 ที่ผ่านมา สินค้าข้าว ประกันรายได้ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ปริมาณไม่เกิน 16 ตัน

โดยเริ่มจ่ายส่วนต่างแล้วงวดที่ 1 จ่ายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 และจ่ายทุกสัปดาห์ ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 4.66 ล้านครัวเรือน จำนวนเงิน 48,073.92 ล้านบาท คงเหลือการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 10 งวด สำหรับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประกันรายได้ กิโลกรัมละ 8.50 บาทที่ความชื้น 14.5% งวดแรกจ่ายวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 งวดต่อไปจะจ่ายทุกเดือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 0.313 ล้านครัวเรือน จำนวนเงิน 1,219.80 ล้านบาท คงเหลือการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 7 งวด

ส่วนสินค้ายางพารานั้นยางแผ่นชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้นกิโลกรัมละ 57 บาท และยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 23 บาท โดย ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 1.45 ล้านครัวเรือน จำนวนเงิน 7,169.143 ล้านบาท คงเหลือการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 1 งวด ด้านสินค้ามันสำปะหลัง ประกันกิโลกรัมละ 2.50 บาท โดยจ่ายทุกเดือน 12 งวด งวดแรกจ่าย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โดย ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 0.158 ล้านครัวเรือน จำนวนเงิน 1,377.21 ล้านบาท คงเหลือการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงอีก 7 งวด ด้านสินค้าปาล์มน้ำมัน ประกันกิโลกรัมละ 4 บาท โดยเริ่มจ่ายงวดแรก 15 มกราคม 2564 ซึ่งที่ผ่านมาราคาตลาดสูงของปาล์มน้ำมันกว่าราคาประกัน จึงไม่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร

โดยผลการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ปี 2 ในพื้นที่จังหวัดสงขลา สำหรับสินค้าข้าว ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 15,715 ครัวเรือน จำนวนเงิน 22.99 ล้านบาท นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินให้เกษตรกรตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เรียบร้อยแล้ว สำหรับสินค้ายางพารา ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว 104,547 ครัวเรือน จำนวนเงิน 616.20 ล้านบาท ยกเว้นราคาตลาดยางพารางวดที่ 5 และปาล์มน้ำมันซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการคู่ขนานต่าง ๆ ของรัฐบาล ส่งผลให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทั้งหมดได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่รัฐบาลประกันไว้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงกว่าที่รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งนี้ ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำชับให้พี่น้องเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรตรงตามความเป็นจริง ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่

จากการสอบถามพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมงาน พบว่า พี่น้องเกษตรกรมีความพึงพอใจในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร และมาตรการเสริมต่าง ๆ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าวในปีต่อไปควบคู่กับแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาพี่น้องเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากพี่น้องเกษตรกรมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการหรือมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับซื้อสินค้าเกษตร สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่