​ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2564


2 ส.ค. 2564

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในภาคใต้ เก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิวัฒน์จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนกรกฎาคม (39.60) ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤภาคม (40.90) และเดือนมิถุนายน (40.10) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภครายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยปัจจัยลบที่สำคัญมาจากสถานการณ์ระบาดของโควิด -19 ระลอก 4 สายพันธุ์เดลต้าที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

โดยให้ประชาชนเลี่ยง จำกัดหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น รวมทั้งกำนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มสามารถดำเนินการได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่บ้านเท่านั้น การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นระรอกนี้ยังส่งผลกระทบถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่เผชิญข้อจำกัดทั้งสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานในวงกว้าง และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวลง ครัวเรือนมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับภาวะการครองชีพ โดยความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานให้ปรับลดลงอย่างมาก ในขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม

การออกมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมของภาครัฐภายใต้วงเงินเบื้องต้น 7,500 ล้านบาท สะท้อนเจตนาที่ภาครัฐต้องการควบคุมโควิด-19 และพยายามชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าที่พอจะทำได้ หากแต่การช่วยเหลือลูกจ้างและนายจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มอื่น ๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจหรือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบตามมาเป็นทอด ๆ ซึ่งสถานการณ์ข้างหน้ายังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง หากเหตุการณ์คลี่คลายลงในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ผลกระทบคงเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่หากเหตุการณ์ลากยาวออกไปโดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่ลดลงตามที่คาด ก็มีความเสี่ยงที่มูลค่าความเสียหายจะมากขึ้นและครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจากการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม แต่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงต่อเนื่อง และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ จนทำให้โรงพยาบาลไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยโดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม

ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากภาครัฐมีการบริหารจัดการที่ดีและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คาดว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะลดอย่างชัดเจน และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อันจะทำให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ โดยประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 และดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ มีดังนี้

1. จากการล็อกดาวน์กรุงเทพฯและพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนขาดรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงต่อค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้สินที่ต้องชำระทุกเดือน ประชาชนจึงขอเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือในเรื่อง “การพักหนี้แก่ประชาชน” โดยไม่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงระยเวลา 3 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยขอให้ภาครัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงการพักหนี้

2. ภาครัฐควรมอบหมายให้สำนักงานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัดทำงานบูรณาการกับสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการจำนวนสถานพยาบาล จำนวนเตียงของสถานพยาบาลในแต่ละแห่งที่สามารถรองรับผู้ป่วยสีแดง รวมถึงสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ แต่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ (Home Isolation)

3. ภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณในการแจกชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ( Rapid Antigen Test Kit) แก่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อรีบหาผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะได้แยกผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ไปแพร่เชื้อแก่ผู้อื่น โดยทำการกักตัวและรักษาตามอาการ สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการให้รับประทานยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร หรือยาสมุนไพรอื่น ๆ ที่เหมาะสม อีกทั้งนำแพทย์แผนไทยเข้ามาช่วยในการจัดหาสมุนไพรที่เหมาะสม และช่วยแนะนำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยสมุนไพร

4. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรกำหนดให้การแก้ปัญหาโควิด-19 และการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติโดยการทำงานเชิงรุก และหวังผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน โดยการมอบหมายงานต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งมีการกำหนดวันเวลาสุดท้ายที่หน่วยงานนั้น ๆ จะต้องทำให้เสร็จ (Deadline)หากหน่วยงานใดไม่สามารถทำได้ตามกำหนดเวลา อาจจะมีการลงโทษกับผู้บริหารของหน่วยงานนั้น

5. หากพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากในสถานที่ใด หากเป็นไปได้ ภาครัฐควรจัดทำสถานที่กักตัว หรือสถานพยาบาลสนามที่แห่งนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องเดินทางไปแพร่เชื้อโควิด-19 ไปที่อื่นต่อไป

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 35.20 และ 39.50 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 36.80 และ 34.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 30.50 , 33.70 และ 36.40 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28.50 รองลงมา คือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 22.10 และ 14.90 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ การพักหนี้ของประชาชน รองลงมา คือ การจัดการโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพการชดเชยที่เหมาะสม และลดค่าครองชีพ ตามลำดับ