​“เคลียร์ข้อสงสัย มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ต่อลมหายใจธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อย”


8 ส.ค. 2564

“เคลียร์ข้อสงสัย มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ต่อลมหายใจธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อย”

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ระลอกสามที่ยังแพร่ระบาดหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจเป็นวงกว้าง หลายธุรกิจต้องปิดกิจการจากการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ธุรกิจที่ยังสามารถเปิดกิจการได้ส่วนใหญ่ก็มีรายได้ลดลง ส่งผลให้ต้องลดขนาดและลดการจ้างงานลง ยิ่งธุรกิจขนาดเล็กที่มีสายป่านไม่ยาว ก็ขาดเงินทุนมาใช้หมุนเวียนและหล่อเลี้ยงกิจการ ผนวกกับภาระหนี้สินที่จ่ายไม่ไหวทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการลงชั่วคราวหรืออาจถาวรเลยก็เป็นได้ เปรียบเสมือนผู้ป่วยที่เข้าภาวะวิกฤต ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจอย่างรีบด่วน มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันออกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นับได้ว่าเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบให้สามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตินี้ เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงได้รับทราบมาตรการนี้กันมาบ้างจากช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ของแบงก์ชาติและสถาบันการเงิน แต่อาจยังไม่แน่ใจว่าตัวเองผ่านคุณสมบัติเข้ามาตรการได้หรือไม่ หรือยังไม่รู้ขั้นตอนว่าหากต้องการเข้าร่วมมาตรการจะต้องทำอย่างไร ผู้เขียนได้รวมคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนมาเคลียร์กันให้หายสงสัย ดังนี้

1. พักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) หรือพักทั้งต้นทั้งดอก ? และเริ่มเมื่อไหร่ ?

มาตรการนี้พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยภายหลังจากครบกำหนดพักชำระ 2 เดือน แบงก์ชาติได้ขอให้สถาบันการเงินนำภาระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระไปเกลี่ยจ่ายตามงวดชำระหนี้ที่เหลือหรือนำไปจ่ายในช่วงท้ายของสัญญาเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

2. หนี้ประเภทไหนถึงได้พักชำระ ? และใครเข้าร่วมมาตรการได้บ้าง ?

มาตรการนี้ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทของลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั่วประเทศที่ต้องถูกปิดกิจการตามมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น ร้านนวด สปา ร้านเสริมสวย ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้นและลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมซึ่งยังเปิดกิจการได้แต่รายได้ลดลงจากมาตรการของรัฐ ทั้งนี้ ลูกหนี้ต้องไม่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) ณ วันที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน

3. ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการจะติดเครดิตบูโรหรือไม่ ?

ในระหว่างช่วงเวลา 2 เดือนที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการ ลูกหนี้จะได้รับการคงสถานะเดิม ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ถือเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งไม่ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติม

4. ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้ จะเข้าร่วมมาตรการนี้ได้มั้ย ?

ลูกหนี้สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ หากได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี การพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามมาตรการนี้เป็นการเลื่อนการชำระหนี้ออกไป 2 เดือน โดยที่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในตอนนี้ ลูกหนี้ยังมีภาระที่ต้องจ่ายหนี้ในภายหลังอยู่ดี ดังนั้น ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ก็ควรดำเนินการต่อไปเพื่อไม่ให้ภาระหนี้เพิ่มสูงเกินจำเป็นในอนาคต

5. อ่านคำถามด้านบนทุกข้อครบแล้ว สนใจอยากเข้าร่วมมาตรการฯ จะต้องไปติดต่อที่ไหน ?

ลูกหนี้ที่มีความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน สามารถลงทะเบียนขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบ Mobile application เว็บไซต์ และ Call center ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสถาบันการเงินได้โดยตรง หรือติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน แบงก์ชาติ โทร 1213

ขอย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เป็นมาตรการเร่งด่วนและเฉพาะหน้า เสมือนเป็นเครื่องช่วยหายใจเร่งด่วนไปก่อน เนื่องจากเมื่อหมดระยะเวลาการพักลูกหนี้จะต้องกลับมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยต่อ ดังนั้นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนกว่าคือการเข้าไปติดต่อกับเจ้าหนี้เพื่อขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือขอเจรจาผ่อนผันเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับกำลังความสามารถในการชำระหนี้ที่ตนเองทำได้หรือจ่ายไหว “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่ อย่างยั่งยืน” ขอเป็นกำลังใจให้ลูกหนี้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 นี้ไปได้ด้วยกันค่ะ


ผู้เขียน :เอกนุช นวลศรี

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย